'ชีวิตไม่ต้องเป็นไปตามแพลนก็หาตัวเองเจอ..' พูดคุยกับฝ้าย-กุลจิรา นักศึกษา PhD กับประสบการณ์ มึน ฮา โฮ

เผยแพร่เมื่อ 13 พ.ย. 2016 ผู้เขียน

"เรียนไม่เก่ง เอนท์ไม่ติด ชีวิตเคว้งคว้าง เพื่อน ๆ ต่างมีเป้าหมายกันชัดเจน ส่วนตัวเรายังมึน ๆ ไม่รู้ว่าชีวิตจะไปทางไหน..." เชื่อว่าอารมณ์นี้มีคนไม่มากก็น้อยที่เคยรู้สึก เคยผ่าน หรือแบบ เฮ้ย! นี่มันฉันเลยนี่นา.. วันนี้ทีมงานมาบริสเบนได้มีโอกาสพูดคุยกับ ฝ้าย-กุลจิรา มานิมนต์ PhD Candidate ที่ School of Advertising, Marketing and Public Relations มหาวิทยาลัยแนวหน้าของออสเตรเลีย QUT Business School | Queensland University of Technology กับประสบการณ์ความมึน ที่ทำให้เธอมีโอกาสได้ศึกษาต่อและเที่ยวในหลายประเทศ อีกทั้งยังได้ทำงานกับองค์กรสำคัญหลายแห่ง และในปัจจุบันเธอยังเป็น Consular Officer ที่ สถานกงสุลไทยในควีนส์แลนด์ อีกด้วย

 

เป็นยังไงบ้างกับชีวิตของนักเรียน PhD

1 ปีต้องเตรียมตัวเพื่อที่จะยื่นเรื่องหัวข้อวิจัยให้กับอาจารย์ ผ้ายเริ่มเรียนเมื่อปี 2015 ช่วง 3 เดือนแรกอาจารย์ก็จะให้เราเสนอเข้าไปว่าอยากทำเรื่องอะไร ลองเขียนขึ้นมาประมาณ 20 หน้าซิ เพื่อดูว่า idea และ methodology จะเป็นอะไรบ้าง แล้วมันจะส่งผลยังไงกับพวก academic หรือ industry ซึ่งอันนี้ยังไม่ค่อยซีเรียสเท่าไร คือให้เราพอมีไอเดีย

แต่สิ่งที่เค้าเน้นและพยายามบอกฝ้ายตลอดระหว่างช่วงที่หาไอเดียคือการทำอะไรก็ได้ที่มันทำให้เรามีความสุขจริงๆ ในความสุขที่นี้คือ ความสุขที่เราจะตื่นแล้วเจอมันทุกวันแบบนี้ไปเรื่อยๆ อีก 4 ปี แล้วพอไอเดียเราผ่านปุ๊บ ฝ้ายก็จะเริ่มเรียนพวก coursework เป็นแบบ research methodology เกี่ยวกับการเก็บข้อมูลทำยังไง ซึ่งมีเรียนประมาณ 5 วิชา แล้ววิชาพวกนี้เราก็ต้องเรียนให้ผ่านด้วยนะ เพราะว่ามันจะมีผลลงในใบคะแนนเรียน (transcript) เรียน 2 วิชาต่อ 1 เทอม แต่มันก็ค่อนข้างหนัก เพราะระหว่างนั้นเราก็ต้องทำ assignment ของวิชานั้น ๆ ไปด้วย แล้วก็ทำงานตัวเอง (งานวิจัย) ไปด้วย ที่เราต้องเรียน coursework ก็เพื่อเป็นแนวทางในการเสริมตัวงานวิจัยของเรา

20161114-guljira-aus-2

 

ฟังดูแล้วหนักจริง ๆ อย่างนี้เราสามารถเลือกที่จะเรียนเฉพาะ 5 วิชาให้จบก่อน แล้วค่อยมาทำวิจัยได้มั้ย

อันนี้ก็แล้วแต่คนนะ ฝ้ายตั้งใจเรียนตัววิชาพวกนี้มากเกินไป เพราะกลัวเกรดจะออกมาไม่ดี แล้วมันก็ทำให้การทำงานวิจัยของฝ้ายตกลง จนแบบอาจารย์ว่า คือตอนแรกอาจารย์เค้าใจดีกับฝ้ายมาก พอการทำงานวิจัยเราออกมาไม่ค่อยดี อาจารย์ก็ถามว่าเกิดอะไรขึ้น ทำไมงานช้า งานออกมาไม่ดี พอโดนด่ามาก ๆ เข้าก็ฮึด ก็กลับมาแบบพุ่งปรี๊ด

พอครบ 1 ปีที่เรียนมาก็ต้องมาสอบ PhD Confirmation Seminar จำไม่ได้เหมือนกันว่าวิทยานิพนธ์เขียนกี่หน้า แต่เราต้องเขียนครึ่งนึงของวิทยานิพนธ์ คือเค้าบอกว่า ดูแล้วมันเป็นเนื้อหาของตัวที่จะเป็นวิทยานิพนธ์แล้ว ก็จะมีพวก introduction, literature review ซึ่งก็คือการรีวิวงานเก่า ๆ ว่าเค้าทำอะไรกันมาแล้วบ้าง แล้วก็ต้องมี hypotheses, model testing, research methodology ว่าเราจะเก็บข้อมูลยังไง จะเก็บกับใคร ก็คือเราต้องแพลนเขียนออกมาให้หมด เราก็ต้องเอาสิ่งนั้นเนี่ย ไปพูด พรีเซนต์

ใช้เวลาประมาณ 45 นาทีในการพรีเซนต์ ซึ่งตอนแรกคิดว่านานนนมาก ใครจะพูดอะไรได้นานขนาดนั้น เพราะส่วนใหญ่เวลาพรีเซนต์อย่างมากก็ 10 นาที แต่จริง ๆ แล้ว งานที่เราทำมาตลอด 1 ปีน่ะ มันมีอะไรให้พูดเยอะมาก พอเอาเข้าจริงเราก็รัวเลย ไม่ได้หายใจ (ฮา) ของฝ้ายใช้เวลาประมาณ 30-40 นาที ซึ่งก็โอเค อาจารย์ก็แนะนำว่า 30-35 นาที กำลังดี เพราะถ้ามากกว่านั้นคนฟังจะเหนื่อย เบื่อ หรือไปแบไต๋เค้าหมด ก็จะทำให้เค้าไม่สนใจอยากศึกษางานวิจัยของเราเพิ่มเติม ก็ต้องกั๊ก ๆ ไว้นิดนึง แล้วก็ 20 นาทีสำหรับคำถาม กรรมการที่ตัดสินก็จะมีพวก supervisors แล้วก็ตัวแทนจากคณะอื่น ๆ เพราะว่าจะมีอีเมล์ส่งไปทั่วคณะ ทั่วมหาลัย ใครที่สนใจก็เข้ามาฟังได้

 

เกี่ยวกับงานวิจัยที่ฝ้ายทำอยู่ เป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร

จริง ๆ งานวิจัยตัวนี้ฝ้ายเสนอมาก่อนเข้า QUT ก็คือสมัครมา แต่พอถึง QUT ปุ๊บ คุยกับอาจารย์เรื่องความเป็นไปได้ สิ่งที่เราเสนอมามันจะยากไปมั้ย อาจารย์ก็บอกว่าลองใช้เวลา 2 อาทิตย์ไปนั่งทบทวนดูว่าอยากจะทำเรื่องนี้จริงรึเปล่า เพราะว่าฝ้ายเสนอมาเป็นเรื่องเกี่ยวกับ gamification การทำเป็นเกม ทำแอพลิเคชั่น มันน่าสนใจเพราะมันไฮเทคแต่ว่าถ้าเราต้องทำไปเป็นระยะเวลา 3 ปี ฝ้ายก็คุยกับเค้าตรง ๆ ว่ามันไม่จูงใจเรามากพอ คือแบบเราตื่นมาต้องมาเจอมาอ่านอันนี้อีกแล้ว มันเหนื่อยอ่ะ อาจารย์ก็เลยให้ไปคิดมาว่าอยากจะทำอะไร ที่แบบตื่นมาแฮปปี้ที่จะทำวิจัยทุกวัน หาอะไรที่เป็นตัวเอง อยากทำ อยากรู้

ก็กลับไปนั่งคิดเกือบเดือน แล้วก็ได้คำตอบกลับมาเกี่ยวกับการถ่ายรูปอาหาร การตระเวนไปกินอาหารตามที่ต่าง ๆ หรือเรียกได้ว่าพวกรูปอาหาร (FoodPorn) ที่เราเห็นตามโซเชียลมีเดีย ก็คือพอเรามองเห็นภาพอาหารปุ๊บเรารูสึกได้ถึง destination brand awareness หรือ image ของสถานที่ขายอาหารนั้น ๆ มั้ย เราเห็นภาพชัดขึ้นมั้ยว่าสถานที่นี้มันน่าหลงใหล น่าไป มันเกี่ยวกับ theory เกี่ยวกับจิตวิทยาหน่อย ๆ ด้วยตัวเองเป็นคนที่ชอบถ่ายรูปอาหารโพสต์บน Instagram อยู่แล้ว แล้วก็ด้วยความที่เราเป็น foodie หรือ food blogger เนี่ยก็ทำให้เราอยากรู้ว่าสิ่งที่เราโพสต์ลงไปเนี่ยมันจะส่งผลให้คนอื่นเค้าอยากไปหรือเปล่า ซึ่งอาจารย์ก็สนใจ

20161114-guljira-aus-3
20161114-guljira-ig

 

เคยได้ยินมาเหมือนกันว่าเวลาเรียน ป. เอก เราต้องเลือกอาจารย์ ทำไมต้องเป็นอย่างนั้น

ในการคิดหัวข้อวิจัยก็ต้องเลือกที่อาจารย์ถนัดด้วย เค้าสามารถที่จะแนะนำเราได้ แต่ท้ายที่สุดแล้ว คนที่จะเก่งที่สุดในหัวข้อนี้ก็คือตัวเราเอง สมมุติว่าในงานวิจัยมีเรื่องที่เกี่ยวข้องทั้งหมด 5 อย่าง อาจารย์คนนี้อาจจะเก่งใน 1 เรื่อง อาจารย์อีกคนก็อาจจะเก่งอีก 1 เรื่อง แต่สุดท้ายแล้วเราจะเป็นคนที่รู้ทุกเรื่องทั้ง 5 อย่าง ซึ่งฝ้ายมีอาจารย์ 2 คน แต่ความสัมพันธ์มันมากกว่าอาจารย์กับลูกศิษย์ มันเหมือนเพื่อนร่วมงานมากกว่า เพราะที่เมืองนอกอาจารย์เข้าถึงได้ง่าย ไม่เหมือนตอนเรียน ป.ตรี ที่อาจารย์จะตอบอีเมล์บ้างไม่ตอบบ้าง พอมาเรียนเอกคือสนิทกัน อีเมล์ปุ๊บตอบปั๊บ เค้าต้องใส่ใจเรามากเพราะว่าหนึ่งในหน้าที่เค้าคือต้องคอยให้คำปรึกษาแนะนำ และอีกส่วนหนึ่งคืองานวิจัยของเราจะมีชื่อเค้าร่วมอยู่ด้วย

 

แล้วได้ทำงานวิจัยร่วมกับอาจารย์มั้ย

ตอนนี้ฝ้ายสอบ confirmation ผ่านแล้ว คือเลื่อนขั้นจาก PhD Student เป็น PhD Candidate ก็เมื่อวันก่อนได้รับโทรศัพท์จากอาจารย์ว่าเห็นเรามีความสามารถ ชวนไปเขียนบทความ journal ด้วยกัน ซึ่งก็จะมีชื่อฝ้ายร่วมกับอาจารย์ ทำงานด้วยกันมากขึ้น

 

ไปยังไงมายังไงถึงมาเรียนที่บริสเบน

จริง ๆ มาครั้งนี้เป็นครั้งที่สองของฝ้าย คือต้องเล่าย้อนนิดนึงว่าฝ้ายจบจากเตรียมอุดม ตอนนั้นหาตัวเองไม่เจอ แต่เพื่อน ๆ ต่างก็มีเป้าหมายกันหมดแล้วว่าจะเรียน นิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ แล้วตัวเองก็ไม่เข้าใจ ไปทางไหนก็ไม่ถูก ไม่รู้ว่าตัวเองชอบอะไร ตอนแรกก็คิดว่าตัวเองชอบเรื่องแฟชั่น ก็มโน แต่พอไปสอบตรงแบบ โห ทำไมคนอื่นมันเก่งขนาดนี้ แล้วตัวเองก็แบบไก่กามากเลย ตอนแรกก็คิดว่าตัวเองทำได้ดี แต่พอไปอย่างงี้แล้วก็คิดว่า เห้ย มันจะไปไหวเหรอ ก็เลยถอยออกมา แล้วก็รู้สึกว่าตัวเองไม่เคยไป AFS มาก่อน ภาษาอังกฤษก็ไม่ได้เก่งมาก กะโหลกกะลา แม้ว่าจะอยู่เตรียมก็ตาม เวลาตอนอยู่ที่เตรียมก็ไปสายการนาฏศิลป์ (ฮา) ชอบอะไรแบบนี้อ่ะการแสดง

แต่พอถึงเวลาเอ็นทรานซ์ ตอนนั้นมืดแปดด้านจริง ๆ เลยไม่ถูกส่วนคะแนนก็ไม่ได้ดีอะไรเลย ก็เลยเลือกคณะแบบไม่ได้คิดจริงจังและก็พลาดทั้งหมด จริง ๆ แล้วฝ้ายจะบอกเลยว่าตอนนั้นหาตัวตนไม่เจอจริง ๆ รัฐศาสตร์ก็เหมือนจะดีแต่ก็คิดว่ายังไม่ใช่ พอรู้ว่าเราเอ็นทรานซ์ไม่ติดเหมือนเพื่อน ๆ ตอนนั้นนอนร้องไห้ทั้งน้ำตาเลยทีเดียว แต่หลังจากนั้นก็ทบทวนตัวเองแล้วตัดสินใจว่าจะปล่อยตัวเองแบบนี้ไปไม่ได้แล้ว ต้องทำอะไรซักอย่าง ก็เลยตัดสินใจมาต่อที่ออสเตรเลีย เพราะว่ามันไม่ไกลจากเมืองไทยมาก ตอนนั้นก็อายุแค่ 18 ปีพ่อแม่ก็เป็นห่วง แต่ก็สัญญากับพ่อแม่ว่ามาครั้งจะนี้เปลี่ยนตัวเอง หลังจากวันนั้นจำได้เลยค่ะว่าทุกวันตื่นเช้ามานั่งทำแบบฝึกหัดภาษาอังกฤษทุกวัน เพราะว่าไม่อยากทำให้พ่อแม่เสียใจอีกแล้ว

20161114-guljira-qut-2

 

ได้ยินว่าฝ้ายมีประสบการณ์การเรียนต่างประเทศ เที่ยว และทำงานหลากหลาย พอจะแชร์ให้เพื่อน ๆ ฟังหน่อยได้มั้ย

ฝ้ายมาบริสเบนปี 2008 มาเรียนปริญญาตรีที่ James Cook สาขา Hospitality พอเรียนไป 4 ปี ก็รู้สึกว่ายังไม่ชอบ ก็เลยกลับไปไทย ไปทำงานเป็นเอเจ้นท์นักเรียนที่ Eden กรุงเทพฯ พี่เค้าน่ารักมากโทรมาหาฝ้ายจากซิดนีย์ พี่เค้าพูดดีให้กำลังใจ ฝ้ายก็บอกเค้านะว่าฝ้ายอยากต่อโท ก็จะขอลองทำปีนึง ก็ชอบนะ ป. โท ก็แบบก็ตลกอีก เพราะไม่อยากกลับไปออสเตรเลีย อยากลองที่อื่น ก็เลยลองหา business school ที่อังกฤษ ก็ได้ไปเรียนที่ University of Strathclyde, Glasgow, Scotland

20161114-guljira-uk-scotland
20161114-guljira-spain

เป็นอะไรที่แตกต่างมากเลยอ่ะ แล้วก็ไม่คิดว่าจะหนาวขนาดนี้ หนาวแบบติดลบ แต่ก็สนุกที่ได้เที่ยว ฝ้ายชอบสเปน ตึกเค้าสวย ไปแบคแพคกับพี่ผู้หญิงคนนึง เราทั้งสองคนก็พูดสเปนไม่ได้ แล้วคนสเปนก็ไม่พูดภาษาอังกฤษ ก็เลยต้องใช้ภาษามือกันแทน แล้วก็ไป เบลฟาสไอแลนด์ แหล่งไททานิค ไจแอนท์คอสเลค เป็นเนินหินสูง ๆ ไปรถไฟ 9 ¾ ในเรื่อง Harry Potter

เรียนจบก็กลับไทย ไปได้งานที่หอการค้าออสเตรเลีย-ไทย (AustCham Thailand) ต้องทำงานคู่กับสถานทูตฯ ของออสเตรเลีย แล้วก็พวก AusTrade, BOI, Thai Trade งานหลัก ๆ ก็คือเป็นคนประสานงานระหว่างธุรกิจกับสถานทูตฯ (first point of contact) แล้วเราก็จะจัดงานอีเวนท์เพื่อสร้างเครือข่าย จัดสัมมนาเกี่ยวกับการลงทุน เป็นประสบการณ์ที่สนุกและเหนื่อย (ฮา)

20161114-guljira-austcham

 

กลับมาที่เรื่อง PhD ปกติใช้เวลาเรียนกี่ปี

สำหรับ international student ที่เรียน PhD แบบ full time ควรจะจบภายในเวลา 3 ปี นี่คือ on time ถ้า 4 ปีก็ยังโอเคอยู่ หรือแย่ที่สุดคือ 6 ปี แต่ฝ้ายก็พยายามจะทำให้จบภายใน 3-4 ปี เพราะกลัวจะมีผลกับ resume ด้วยว่าทำไมเราใช้เวลานาน จริง ๆ ตอนที่ครบ 1 ปีที่เรียน ฝ้ายจะต้องสอบผ่าน confirmation แล้ว แต่ของฝ้ายโดนอาจารย์เลื่อนออกไป 3 เดือน เพราะว่าตอนนั้นฝ้ายแบบมืดแปดด้าน หรือจะเรียกว่า lost in the middle of nowhere ก็ได้ค่ะ (ฮา) คือเราอ่านงานวิจัยของคนนั้นคนนี้หลาย ๆ คนก็ดีไปหมด แล้วฝ้ายก็จะ เออ เราทำตามคนนี้คนนั้นดีกว่า จนแบบอาจารย์บอก hey you! อันนี้มันงานคุณนะ คุณจะไปทำตามคนอื่นทำไม

มีอีเมล์นึงที่ supervisor ส่งมาแรงมาก คือเค้าส่งรีพอร์ตไปที่เจ้าหน้าที่บอกว่า คนนี้ performance ตก ไม่สามารถที่จะสอบ on time ได้ ฉะนั้นขอ 3 เดือนให้เค้าไปทบทวน แล้วคือฝ้ายกลับบ้านมาร้องไห้ เครียดมาก คือทำงานไม่ทันแล้ว พออาจารย์พูดมาแบบนั้นก็ดาวน์เลยอ่ะ อยู่บ้าน 2-3 วันไม่ออกไปไหน เราก็คุยกับพ่อแม่แล้วก็นึกถึงตอนที่เราอยากมาเรียนมาก ๆ ไฟแรง แล้วก็นึกได้ว่าอาจารย์เค้าไม่ได้เกลียดเราหรอก เค้าเป็นเหมือนพ่อแม่เราแหละที่ตั้งความหวังไว้กับเราแล้วก็อยากให้เราสำเร็จ ฝ้ายก็เลยสู้เขียนดราฟท์แรกให้เค้า ซึ่งเค้าก็บอกว่ามันดีมากจริง ๆ คนละเรื่องกับอันที่ส่งมาให้เมื่อ 3 อาทิตย์ก่อนหน้านี้ พอดราฟท์ที่ 2 ก็เหมือนก้าวกระโดด ปกติคนจะส่งประมาณ 10 ดราฟท์ อันนี้ฝ้ายส่ง 5 ดราฟท์ แล้วก็สอบแล้วก็ผ่านได้เป็น candidate แล้ว น้ำตาจะไหลตอนที่รู้ผล

 

ความแตกต่างของการเรียน ป. โท กับ ป. เอก ต่างกันมากมั้ย

PhD มันจะไม่เหมือน ป. โท เพราะ ป. โท นี่คือเราเอา model ของคนอื่นมาทดสอบ หรือทำอะไรปรับเปลี่ยนนิดหน่อย แต่ PhD มันจะมีบทนึ่งคือ original contribution ก็คือเป็นอะไรที่ไม่เคยทำมาก่อน ว่างานของเราจะมีผลยังไง จะสนับสนุนทฤษฎีไหนที่ยังไม่เคยทำด้านทางปฏิบัติอันไหน มันก็ยากเพราะมันต้องหาอะไรที่คนยังไม่เคยทดลอง แต่ว่าฝ้ายเคยอ่านมาว่า PhD เนี่ยมันไม่ใช่รางวัลโนเบลที่ยูต้องคิดค้นอะไรใหม่ที่สุด แต่แค่คิดค้นตรงจุด ๆ นึงที่ไม่ค่อยมีใครทำ ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้หรอกที่จะไม่มีคนคิดที่จะทำหรือกำลังทำเหมือนเราอยู่ อาจจะเป็นคนจีน คนเกาหลี สุดท้ายแล้วมันก็ไม่เป็นไรที่มันจะซ้ำกัน อย่างเช่นฝ้ายทำเกี่ยวกับอาหาร แต่ก็อาจจะมีคนอื่นทำเกี่ยวกับอาหารอินเดีย อาหารไทย ซึ่งถึงแม้มันจะเป็น original contribution แต่เราก็สามารถนำมันมาผนวกกับคนอื่นได้

20161114-guljira-qut
20161114-guljira-ig-2
ที่มา: @foodietheorist

 

แล้วมาค้นหาตัวเองเจอตอนที่เรียน PhD รึเปล่า

ต้องย้อนกลับไปตอนที่ทำงานอยู่ที่หอการค้าไทย เพราะตอนนั้นก็ยังมองอยู่ว่าจะเลื่อนตำแหน่งขึ้น หรือว่าจะย้ายไปทำงานที่สถานทูตฯ แล้วถ้าสถานทูตฯ แล้วยังไงต่อ คือยังมองภาพตัวเองไม่ออกว่า 5 ปีเราจะเป็นยังไง ก็เลยรู้สึกว่างานวิจัยเป็นอะไรที่เราเขียนเอง มันเหนื่อยจริงที่ใช้สมองแต่มันก็แฮปปี้ แล้วก็โชคดีมาก ๆ ตอนที่ไปเรียนที่สก๊อตแลนด์ คือไปเจอ supervisor ตอนเรียน ป. โท ที่เพิ่งจบ ป. เอก มาจาก QUT ก็เลยคุยกันสนุก แล้วอาจารย์คนนี้เป็นลูกศิษย์คนโปรดของอาจารย์คนปัจจุบัน โลกกลมมาก

พอฝ้ายจบกลับมาที่ไทย ก็ลองซับมิทงานวิจัยตอน ป. โท ไปที่งานคอนเฟอเรนส์ที่มาเก๊า ซึ่งใช้เงินตัวเองหมดเลย แล้วก็ได้เจอ supervisor คนปัจจุบัน พอไปแล้วเหมือนงานในฝัน เพราะเราได้ไปเจอคนที่เราใช้เป็นเรเฟอเรนส์อยู่ในงานเต็มไปหมด อารมณ์เหมือนเป็นติ่งดารา (ฮา) แล้วเราก็ได้ไปพรีเซนต์เป็นคนสุดท้ายด้วยนะ เป็น finale เลยทีเดียว (ฮา)

20161114-guljira-macau-2
20161114-guljira-macau-3

เวลาท้อเรื่อง PhD ทีไรก็จะนึกถึงอารมณ์นั้น ให้สู้ต่อไป ตอนเป็นเด็กก็ไม่ได้เรียนเก่งนะ ตอน ป. ตรี มันก็ยังเด็ก ๆ เจอแต่เอเชีย แต่พอ ป. โท ก็จะเจอฝรั่งเยอะ แล้วเค้าอายุเท่าเรา แต่ทำงานกันแล้ว เราก็จะโตเป็นผู้ใหญ่ตอนนั้นแหละ

ตอนนี้อายุ 27 แต่เพิ่งมาค้นพบตัวเองตอน 25 คือบางคนเรียนจบมาแล้วแบบฉันจะเป็นทนาย วางแผนตัวเองไว้หมดแล้ว อย่างนั้นก็ดี แต่ว่าจริง ๆ แล้วของอย่างนี้มันใช้เวลา ไม่ต้องไปรีบ อย่าง supervisor คนปัจจุบันเค้าก็เพิ่งจะมาทำ PhD ตอนเค้าอายุ 45 ตอนนี้ 55 เค้าเป็นศาตราจารย์ เค้าก็บอกว่าสิ่งที่เข้ามาในชีวิตน่ะมันไม่ได้มาตามแพลนหรอก แบบ 18 ปียูต้องเรียนอันนี้ 25 ปียูต้องทำงานนี้ มันไม่ใช่ ทุกอย่างใช้เวลาและเราต้องมี passion กับมัน ส่วนพ่อแม่ก็บอกว่าไม่น่าเชื่อเลยจากเด็กวันนั้นที่ไม่ค่อยรู้เรื่องอะไร ภาษาอังกฤษไม่ได้เรื่อง เอ็นทรานซ์ไม่ติด ไม่เอาไหน แต่จุดเปลี่ยนเรื่องเอ็นทรานซ์จะทำให้มาไกลขนาดนี้ (น้ำตาจะไหล ฮา)

 

สำหรับน้อง ๆ ที่กำลังตัดสินใจว่าจะมาต่างประเทศดีมั้ย มีอะไรจะแนะนำบ้าง

คือสำหรับฝ้ายน่ะ ฝ้ายมัดมือตัวเองชก คือพ่อกับแม่ให้โอกาส คือคนเป็นพ่อเป็นแม่เค้าจะเตรียมแผนรองรับให้เราอยู่แล้ว แต่อยู่ที่เราว่าจะสู้มั้ย ถ้าอยากจะลองสักตั้งก็ลองมาเรียนภาษาดูก่อนก็ได้ มาหาตัวตนสัก 6 เดือน หรือถ้าใครพร้อมจริง ๆ อยากมาลองอยากเปลี่ยนชีวิตก็มา ป. ตรี ป. โท ที่มันยาวขึ้นก็ได้ ก็ลองมา summer camp (เรียนภาคฤดูร้อน) อะไรยังงี้ก่อนก็ได้นะ

 

สุดท้ายอยากมีอะไรฝากถึงน้อง ๆ นักเรียนไทยมั้ย

ก็เห็นน้อง ๆ ป. ตรี ป. โท ชอบเกาะกลุ่มกัน ก็เป็นเรื่องที่ดีนะได้พึ่งพาช่วยเหลือกัน แต่ว่าอย่างในเวลาเรียน หรือเวลาจับกลุ่มทำรายงานก็อยากจะให้ลองหาเพื่อนต่างชาติบ้าง เพราะว่าไหน ๆ เราก็มาถึงที่นี่แล้วก็ควรได้อะไรกลับไปบ้าง ทั้งภาษาและการเรียนรู้วัฒนธรรมที่หลากหลาย ความคิดของคนแต่ละชาติก็ไม่เหมือนกัน เป็นการเปิดโลกทัศน์ของเราได้กว้างขึ้น อย่างคนไทยบางคนก็อาจจะคิดว่า เอ๊ะ ทำไมคนไทยคนนี้ไม่ชอบมาจับกลุ่มกับคนไทยด้วยกัน เค้าก็อาจจะมีเป้าหมายของเค้าก็ได้ ก็ไม่ต้องไปคิดมาก เกาะกันได้แต่อย่าแน่น (ฮา)

สำหรับตอนนี้นะคะฝ้ายกำลังเก็บข้อมูลส่วนแรกของ PhD Thesis ในส่วนแรกจะเป็นการเก็บข้อมูลโดยการออกไปสัมภาษณ์(interview) ถ้าใครสนใจและคิดว่าชื่นชอบในการถ่ายและดูภาพอาหารต่างๆบน social media สามารถติดต่อฝ้ายมาได้ที่อีเมลล์ Guljira.manimont@hdr.qut.edu.au ค่ะ ในส่วนที่สองของงาน thesis นั้น ฝ้ายจะเก็บข้อมูลแบบ survey ในช่วงประมาณเดือน พฤษภาคม ค่ะ

20161114-guljira-aus-consulbne

 

เป็นอย่างไรกันบ้างกับประสบการณ์มึน ฮา โฮ ของน้องฝ้าย พอจะเป็นกำลังใจหรือแนวทางให้เพื่อน ๆ น้อง ๆ ไม่ย่อท้อและไม่ต้องกังวลไปหากยังค้นหาตัวเองไม่เจอ บางครั้งมีการลองผิดลองถูก จบมาได้งานไม่ตรงสาย หรือพอทำไปก็รู้สึกว่าไม่ใช่ บางคนอาจจะมองว่าเป็นการเสียเวลา ไม่น่าเลือกผิดเลย แต่จริง ๆ แล้วทุกประสบการณ์ที่เราพบเจอ ความรู้ เรื่องราวต่าง ๆ ผู้คนที่เข้ามาในชีวิต ต่างก็เป็นส่วนหนึ่งที่ขัดเกลาความเป็นเราและเป็นเหมือนเข็มทิศข้างในชี้ให้เราว่าอยากจะเดินไปทางไหน ถึงแม้เส้นทางจะอ้อม ซิกแซกไปบ้าง แต่ถ้าเรายังคงก้าวเท้าเดินต่อไป เราก็จะถึงจุดหมายแน่นอน และทางที่ผ่านก็คือสีสันของชีวิต ทุกวันพระอาทิตย์ก็ยังคงขึ้นทางทิศตะวันออกอยู่เสมอ ทุกวันก็คือวันใหม่ ทีมงานมาบริสเบนก็ขอเป็นกำลังใจให้เพื่อน ๆ ทุกคนสู้ต่อไปนะคะ/ครับ

ปีศาจน้อย

นักเขียนมือสมัครเล่น อ่านง่าย เข้าใจยาก แต่ความตั้งใจเกินร้อยนะฮ้าฟฟฟ