เตรียมพร้อมร่างกาย สู้โรคภัยในฤดูใบไม้ผลิ

เผยแพร่เมื่อ 24 ก.ย. 2023 ผู้เขียน

ฤดูใบไม้ผลิ (Spring) ไม้ดอกที่ต่างเบ่งบานรับแดดหลังผ่านฤดูกาลอันหนาวเหน็บ สัตว์และแมลงที่ถูกปลุกตื่นขึ้นมารบกวนมนุษย์ ผู้คนต่างออกมาทำกิจกรรมกลางแจ้งตั้งแต่เดือนกันยายนถึงพฤศจิกายน เพราะเป็นช่วงฤดูที่เย็นสบาย มีแดดอ่อน ๆ ฟังดูดีแต่ก็เป็นเวลาที่โรคภัยไข้เจ็บต่างเรียกหา ไม่ว่าจะเป็นโรคภูมิแพ้จากละอองเกสรและหญ้า อีกทั้งยังเป็นช่วงเปลี่ยนฤดู ใครที่ร่างกายอ่อนแออาจทำให้เกิดไข้หวัดได้ นอกจากนี้อาจเกิดโรคและปัญหาสุขภาพหลายอย่าง ได้รับอิทธิพลจากสภาพอากาศและสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง อีกทั้งปัญหาสุขภาพประจำตัวแต่ละคนไม่เหมือนกัน เราจะมารวมโรคภัยและปัญหาสุขภาพทั่วไป ที่เราสามารถสังเกตได้ในช่วงฤดูใบไม้ผลิ รู้ก่อน เตรียมพร้อมร่างกายได้ก่อน

 

 

 seasonal diseases in spring 01

ที่มาภาพ : freepik.com

 

โรคภูมิแพ้ (Allergy)

      โรคประจำตัวยอดนิยมของคนยุคนี้ โรคที่มีสิ่งกระตุ้นอาการแพ้จากละอองเกสรจากต้นไม้ หญ้า และดอกไม้เพิ่มขึ้น (แต่สำหรับคนที่อยู่ไทยอาจจะถูกกระตุ้นด้วยฝุ่นควัน มลภาวะซะมากกว่า) และหนึ่งในโรคตระกูลภูมิแพ้ ที่เกิดขึ้นมากในช่วงฤดูใบไม้ผลินั่นคือ Hay Fever (ไข้ละอองฟาง) ซึ่งโรคนี้อาจทำให้เกิดอาการต่าง ๆ  เช่น จาม น้ำมูกไหลหรือคัดจมูก คันตาหรือน้ำตาไหล และไอ หากเป็นอาการหนักอาจจะทำให้ใช้ชีวิตประจำวันไม่สะดวกเท่าไหร่

วิธีการรักษาและเตรียมตัว : หลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง อยู่ในพื้นที่ปิด ไม่เปิดรับลมธรรมชาติโดยตรง อย่าลืมที่จะทำความสะอาดระบบกรองอากาศภายในบ้านและในรถยนต์ให้ดี, หลีกเลี่ยงการตากเสื้อผ้ากลางแจ้ง เพราะเกสรดอกไม้อาจติดตามเสื้อผ้าที่เราสวมใส่ และหมั่นรักษาความสะอาด รวมถึงทานยาแก้แพ้หากอาการกำเริบจนไม่สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ

 

 

seasonal diseases in spring 02

ที่มาภาพ : freepik.com

 

เยื่อบุตาอักเสบจากภูมิแพ้ (Allergic Conjunctivitis)

      หรือภาษาอังกฤษมีชื่อเรียกน่ารัก ๆ ว่า โรคตาชมพู (Pink Eye) อาการที่เห็นชัดเจนนั่นคือ ตาแดงบริเวณตาขาว เป็นอาการที่เกิดขึ้นได้ ของคนที่เป็นภูมิแพ้จากสิ่งแปลกปลอม ฝุ่นละออง หรือละอองเกสรดอกไม้ อีกทั้งยังเกิดได้จากการติดเชื้อไวรัสและแบคทีเรียบางชนิดที่แพร่กระจายในช่วงฤดูนี้ หากเกิดอาการนี้แล้วเราขยี้ตาบ่อย ๆ  อาจทำให้เกิดขี้ตามากขึ้น ทำให้อักเสบ และปวดระบบมากขึ้น อีกทั้งยังสามารถเกิดผื่นแดงและตุ่มรอบดวงตาได้อีกด้วย

วิธีการรักษาและเตรียมตัว : โดยปกติโรคเยื่อบุตาอักเสบสามารถหายได้เองภายใน 2-3 สัปดาห์ อาจต้องทานยาแก้แพ้หรือยาหยอดตาร่วมด้วย และที่สำคัญที่สุด เพื่อไม่ให้ลุกลาม คือการรักษาความสะอาด โดยเฉพาะมือทั้งสองข้าง พยายามไม่ขยี้ตาด้วยมือเปล่า แต่สามารถประคบเย็นแทน เพื่อบรรเทาอาการระคายเคือง หากต้องสัมผัสบริเวณรอบดวงตาเพื่อทำความสะอาด ใช้แผ่นทิชชู่สะอาดเช็ดเบา ๆ  ล้างทำความสะอาดดวงตาด้วยน้ำเกลือชนิดเดียวกับที่ล้างแผลได้

 

 

seasonal diseases in spring 03

ที่มาภาพ : freepik.com

 

อาการกำเริบของโรคหอบหืด (Asthma)

      โรคหอบหืดเป็นภาวะทางเดินหายใจเรื้อรัง สำหรับผู้ที่เป็นหอบหืดอยู่แล้ว ในช่วงฤดูนี้มีโอกาสสูงที่จะเกิดอาการกำเริบ เนื่องจากการแพร่กระจายละอองเกสรดอกไม้และสารก่อภูมิแพ้อื่น ๆ ที่ลอยมาตามลม รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ ปุ๋ย และยาไล่แมลง มีอยู่ทั่วไปกลางแจ้ง อีกทั้งสิ่งกระตุ้นภายในอาคาร เช่น ฝุ่น เชื้อรา และสารเคมีในการทำความสะอาด ก็สามารถเป็นสาเหตุของโรคหอบหืดได้เช่นกัน  อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ 

วิธีการรักษาและเตรียมตัว : ผู้ที่เป็นโรคหอบหืดควรมีแผนฉุกเฉิน โดยเฉพาะการมียาติดตัว เพื่อบรรเทาอาการหายใจลำบากได้ รวมถึงหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นต่าง ๆ ที่อาจเกิดอาการกำเริบขึ้น

 

 

seasonal diseases in spring 04

ที่มาภาพ : freepik.com

 

โรคไลม์ (Lyme Disease)

      เราอาจไม่ค่อยได้ยินชื่อโรคนี้เท่าไหร่ในไทย แต่เป็นที่แพร่หลายในต่างประเทศ โดยเฉพาะผู้คนที่อยู่ใกล้ชิดกับธรรมชาติ มาจากการเดินป่า ตั้งแคมป์ ทำสวน โรคนี้เกิดจากเห็บชนิดหนึ่ง ที่เป็นพาหะแพร่เชื้อโรค Lyme อีกทั้งเห็บประเภทนี้ชอบอากาศที่อุ่นและเปียกชื้นในฤดูใบไม้ผลินั่นเอง อาการของคนที่เป็นโรคนี้ เริ่มต้นจากมีไข้ ปวดศรีษะ เมื่อยเนื้อตัว บริเวณผิวหนังมีผื่นวงสีแดง หนักเข้าอาจจะทำให้ ต่อมน้ำเหลืองโต หน้าเบี้ยว อ่อนแรง ปลายมือปลายเท้าชา ส่งผลต่อเยื้อหุ้มสมอง เรียกได้ว่า เพียงเห็บตัวเล็ก ๆ  แต่โรคที่ตามมาไม่เล็กเลย

วิธีการรักษาและเตรียมตัว : หลีกเลี่ยงการเดินบนต้นไม้สูง หากมีความจำเป็น ควรใช้ยาไล่เห็บเมื่อออกไปข้างนอก สวมเสื้อแขนยาว ขายาว คลุมผิวหนังเพื่อป้องกันไม่ให้เห็บกัด และหลังจากกลับมาจากป่า ให้รีบถอดเสื้อผ้าสำรวจอย่างละเอียดว่ามีเห็บเกาะมาหรือไม่

 

 

seasonal diseases in spring 05

ที่มาภาพ : freepik.com

 

ผิวไหม้แดด (Sun Burn)

      อันตรายจากแสงแดด เป็นสิ่งที่ชาวเอเชียอย่างเราอาจจะละเลยไป แน่นอนว่าอากาศช่วงฤดูใบไม้ผลินั้นดึงดูดให้เรา ออกไปใช้ชีวิตกลางแจ้งมากขึ้น แต่ก็อย่าได้ชะล่าใจกับรังสี UV ที่สามารถทำร้ายผิวภายนอกของเรา อาการของผิวไหม้แดดเริ่มขึ้นเมื่ออยู่กลางแจ้งตั้งแต่ 2-6 ชม. ผิวจะแดงขึ้นและแสบร้อน 24 หลังจากจากนั้นผิวบริเวณที่ไหม้แดดจะมีการระคายเคือง อาจจะรุนแรงขึ้นเช่นมีการอักเสบ บวม พุพอง ติดเชื้อและเกิดหนอง อีกอาการหนึ่งที่ตามมา เมื่อใช้ชีวิตกลางแดดเป็นเวลานาน นั่นคือ Heatstorke หรือลมแดด เป็นโรคที่อันตรายส่งผลต่อชีวิตเช่นกัน

 

วิธีการรักษาและเตรียมตัว : ทาครีมกันแดด สวมเสื้อผ้าที่ปิดบังผิว แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ไม่ควรอยู่กลางแจ้งเป็นเวลานาน หากรู้สึกวิงเวียน หายใจถี่ หัวใจเต้นเร็ว รีบหลบพักในที่ร่มและโล่ง และหมั่นจิบน้ำเพื่อให้ร่างกายไม่ขาดน้ำ

 

 

seasonal diseases in spring 06

ที่มาภาพ : freepik.com

 

โรคซึมเศร้าตามฤดูกาล (Seasonal Affective Depression หรือ SAD)

      ภาวะซึมเศร้าที่เกิดขึ้นในช่วงฤดูหนาว ที่เรียกว่า Winter Blues ด้วยสภาวะอันหนาวเย็นที่ชาวเอเชียอย่างเราอาจะไม่คุ้นชิน ความแห้งแล้ง อีกทั้งไม่สามารถออกไปใช้ชีวิตภายนอกได้เหมือนปกติ ทำให้เกิดอาการเบื่อหน่าย วิตกกังวล หนักเข้าจะมีความรู้สึกไม่อยากเข้าสังคม สมาธิสั้น หมดเรี่ยวแรง นานไปก่อให้เกิดเป็นโรคซึมเศร้าได้ ที่แม้ว่าจะเปลี่ยนเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิและฤดูร้อนแล้วก็ตาม ข่าวดีคือชาวบริสเบน หรือผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีแสงแดดตลอดทั้งปี แถมฤดูหนาว ก็ไม่หนาวเหน็บแบบมีหิมะ ทำโรคนี้จะเกิดขึ้นได้น้อย แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่พบเลย อย่ามองข้ามความผิดปกติของจิตใจ

วิธีการรักษาและเตรียมตัว :  หากรู้สึกว่าตัวเราเองมีอาการเหล่านี้เกิดขึ้น โปรดอย่ามองข้าม สามารถบรรเทาอาการเบื้องต้นด้วยการออกกำลังกาย ดูแลตัวเอง ทานอาหารและผลไม้ที่มีประโยชน์โดยเฉพาะ กล้วยหอม, ปลา และ เห็ดที่มีสารอาหารที่ช่วยผ่อนคลาย ให้สมองหลั่งสารสื่อประสาทแห่งความสุข อีกสิ่งที่สำคัญคือการรับวิตามิน D จากแสงแดดอ่อน ๆ  จะช่วยให้ร่างกายหลั่งสาร เซโรโทนิน (Serotonin) ลดภาวะซึมเศร้า อีกทั้งยังช่วยปรับสมดุลนาฬิกาชีวิต ทำให้เข้านอนได้เป็นเวลามากขึ้นอีกด้วย และสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงนั่นคือการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และเรื่องราวเชิงลบ พบปะผู้คน ออกไปท่องเที่ยว ใช้ชีวิตให้เป็นสุข

 

 

ใครที่สุขภาพร่างกายไม่แข็งแรงนัก จะทราบดีว่านี่คือช่วงที่ต้องรับมือกับโรคต่าง ๆ ที่มาพร้อมกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง อย่าลืมที่จะดูแลตัวเองให้มากกว่าปกติ ทั้งการสร้างภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง รักษาความสะอาดร่างกายและสิ่งรอบตัว อีกทั้งปรับสมดุลร่างกาย ทั้งการกินและการนอนให้เหมาะสม

เพราะการไม่มีโรค คือลาภอันประเสริฐที่แท้จริง เมื่อมาใช้ชีวิตในต่างประเทศ

 

อ้างอิงข้อมูล :

  • www.smk.co.th
  • navavej.com
  • www.pobpad.com
  • www.basarihastanesi.com
  • www.teladoc.com
  • www.mfine.co
ปรับปรุงล่าสุดเมื่อ 25 ก.ย. 2023
Yingg Is

ไปได้ทุกที่ ยกเว้นบ้าน