อนุรักษ์ประเพณีสงกรานต์และผ้าไทย หม่อมหลวง ปุณยนุช เกษมสันต์ ดุลยจินดา

เผยแพร่เมื่อ 09 เม.ย. 2015 ผู้เขียน

ใกล้จะถึงวันสงกรานต์เข้ามาทุกที ทางทีมงานของเราจึงขอหยิบเอาบทสัมภาษณ์ดี ๆ จากหม่อมดาว “หม่อมหลวง ปุณยนุช เกษมสันต์ ดุลยจินดา" ที่จะมาให้ความรู้เราถึงความเป็นมาของ "ประเพณีวันสงกรานต์" รวมทั้งเรื่องราวของ "ข้าวแช่" อาหารที่นิยมทานกันในช่วงเทศกาลนี้ และทิ้งท้ายกับบทสัมภาษณ์ชีวิตส่วนตัวและข้อคิดดี ๆ ในการใช้ชีวิตในต่างแดน

 

จากอดีตถึงปัจจุบัน ร่วมสืบสานประเพณีสงกรานต์ของไทย

 

150331-songkran-4

รูปประกอบ: bkk-data.wu.ac.th

นางสงกรานต์ คือ นางในตำนาน ที่เป็นพระราชธิดาทั้งเจ็ดของท้าวกบิลพรหมที่ผลัดเปลี่ยนกันเป็นตัวแทนนำ ศีรษะของพระบิดาที่ถูกตัดเพราะแพ้พนัน ออกแห่แหนและมิให้ตกถึงพื้น เพราะจะเกิดไฟประลัยกัลย์ในวันสงกรานต์ อีกตามนัยหนึ่งก็คือเป็นกุศโลบายที่จะแก้ความร้อนจัดของเดือนเมษายน ช่วยให้คนคลายเครียด ด้วยการจัดงานรื่นเริง โดยบรรจุสิ่งเป็นมงคลทั้งหลายลงในเทศกาลนี้ อาทิ การรดน้ำพระเพื่อทำความสะอาดพระ และเพื่อเป็นศิริมงคล การรดน้ำขอพรจากผู้ใหญ่ที่เป็นบุพการี และผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ ถือเป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทีอย่างหนึ่ง การทำบุญและการขนทรายเข้าวัด เพื่อนำสิ่งที่ติดออกมากับรองเท้าคืนให้แก่วัด และวัดจะได้นำไปใช้ประโยชน์เพื่อการก่อสร้างซ่อมแซมพระอารามต่าง ๆ

ของแถมของเทศกาลสงกรานต์ คือ การเล่นน้ำเพื่อความรื่นเริง การแต่งกาย ในวันสงกรานต์สมัยก่อนผู้หญิงไทยจะใส่ผ้าถุง หรือผ้าซิ่น ส่วนผู้ชายใส่เสื้อมอฮ่อมหรือเสื้อผ้าฝ้าย การรดน้ำ ผู้รดจะใช้น้ำขมิ้นส้มป่อยผสมน้ำอบไทยลอยดอกมะลิ ค่อย ๆ รดไป ที่มือหรือหัวไหล่อีกฝ่ายหนึ่งเพียงเล็กน้อย

แต่สมัยนี้เล่นกันจนประเพณีดั้งเดิมผิดเพี้ยนไป กลายเป็นสาดน้ำกันเป็นถังๆ เพื่อความสะใจ และบางครั้งยังแถมน้ำแข็งหรือตักน้ำเน่าจาก คูคลองมาสาดใส่กันจนเป็นอันตราย ผู้ชายบางคนถือโอกาสล่วงเกินฝ่ายหญิง ด้วยการปะแป้งไปที่ใบหน้าและเนื้อตัวของฝ่ายหญิง การแต่งกายของฝ่ายหญิงก็ล่อแหลมมากขึ้น เสื้อผ้าบาง น้อยชิ้น ล้วนเป็นอันตรายทั้งสิ้น ไม่สมควรค่ะ

 

กุศโลบายไทย ทาน "ข้าวแช่" อาหารดับร้อน

150331-songkran-ขาวแช

รูปประกอบ: manager.co.th

อีกสิ่งหนึ่งที่นิยมกันในเทศกาลสงกรานต์หรือช่วงฤดูร้อนนี้ คือการรับประทานอาหารที่เรียกว่า “ข้าวแช่” คือ ข้าวสวยที่หุงแบบล้างน้ำจนหมดยางข้าว และนำไปแช่น้ำ ผสมน้ำแข็งซึ่งน้ำนั้นต้องอบด้วยควันเทียน และดอกไม้หอมอย่างน้อย 1-3 คืน

เครื่องเคียงที่เป็นกับข้าว ที่ใช้รับประทานด้วยกัน มีพริกหยวกยัดไส้หมูสับชุบไข่ทอด หมูเส้น ไชโป๊หวาน ลูกกะปิทอดคือกะปิผสมปลาย่างปั้นเป็นเม็ดทอด รับประทานแกล้มกับผักสดมี กระชาย มะม่วงดิบ ต้นหอม ทุกอย่างแกะสลักสวยงาม เป็นอาหารดับความร้อน ที่เป็น กุศโลบายฉลาดแยบยลอีกอย่างหนึ่งของไทย ที่ได้อิทธิพลมาจากชาวมอญที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร

 

อนุรักษ์ผ้าไทย อยากเห็นผ้าไทยสู้เวทีตลาดโลก

150331-songkran-1

จริง ๆ แล้ว เป็นคนชอบงานหัตถกรรมมาก เพราะเติบโตมาในต่างจังหวัดตลอด จึงเป็นโอกาสที่ได้สัมผัสงานหัตถกรรมต่าง ๆ อยู่เสมอ จนซึมซาบเข้าไปในสายเลือดก็ว่าได้ งานหัตถกรรมที่ชื่นชอบมากที่สุด ก็คงเป็นเรื่องสิ่งทอ เริ่มจากอุปนิสัยที่ชอบแต่งกายด้วยผ้าไทย จึงกลายมาเป็นผู้บริโภคก่อน แต่จะไม่บริโภคอย่างเดียว จะคอยสอบถามหาความรู้จากผู้ผลิตด้วย เพื่อให้รู้จักความเป็นมาผ้านั้นๆ

ต่อมา เมื่อประมาณ 15 ปีก่อน ดิฉันได้รับมอบหมายจาก คุณฉวีวรรณ ขจรประศาสน์ ภริยารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในขณะนั้น ให้เป็นบรรณาธิการ หนังสือเฉพาะกิจ ชื่อ “พัสตราภรณ์ไทย ถวายไท้ราชินี” จึงจำเป็นที่จะต้องศึกษาค้นคว้า ทั้งจากห้องสมุด และจากสื่อต่าง ๆ บางเรื่องก็ต้องติดต่อไปยังแหล่งผลิตผ้าชื่อดัง ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องที่สุด

จำได้ว่าเหนื่อยสาหัส เพราะเราไม่ใช่มืออาชีพ แต่ก็ได้กำลังใจและการสนับสนุนจากคุณฉวีวรรณฯ ประธานโครงการฯ และคุณสุรัศมิ์พรรณฯ สามี หนังสือเล่มนี้ จึงสำเร็จออกมาได้ และมีรายได้ทูลเกล้าถวายสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เพื่อสนับสนุนมูลนิธิศิลปาชีพฯ จำนวนถึง 11 ล้านบาท ที่พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ และจากงานการทำงานครั้งนี้จึงเป็นแรงบันดาลใจให้เก็บสะสมผ้าไทยไว้จำนวนมากมาย เพราะซาบซึ้งในคุณค่าของผ้าไทยมากขึ้น

หลังจากนั้นก็รับงานแค่เป็นผู้แสดงแบบ และผู้สนับสนุนหน่วยงานการกุศลอื่น ๆ เป็นครั้งคราว จนกระทั่งเมื่อ 3 ปี ก่อน ได้รับการชักชวนจากคุณหญิงอิสริยาภรณ์ ปัญจมานนท์ ประธานชมรมเส้นสายบนลายไหม ด้วยใจภักดิ์ ให้มาร่วมเป็นกรรมการจัดงานการกุศลของชมรมอีกครั้ง ซึ่งงานก็ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี มีรายได้ทูลเกล้าถวายพระเจ้าวรวงค์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาธินัดดามาตุ เพื่อมูลนิธิเพื่อนพึ่ง(ภาฯ) ยามยาก ได้ตามวัตถุประสงค์

ในทัศนะส่วนตัว อยากเห็นผ้าไทยออกสู่เวทีและตลาดโลกอย่างสง่างาม แต่น่าเสียดายที่ผู้ผลิตแบรนด์ชั้นนำของโลก แทบจะไม่มีใครไม่ได้ให้เครดิตเรื่องนี้กับเราเลย

“ดิฉันสังเกตุว่าแบบชุดไทยจักรี ชุดไทยตะเบงบาน ลายผ้าปักชาวเขาของไทยลายผ้าซิ่นของไทย ลายผ้ายก ถูกช่างเสื้อต่างชาติลอกเลียนไปเฉพาะแบบ โดยใช้ผ้าที่ผลิตในประเทศของเขา พร้อมกับปั้มลายที่ช่างของเราอุตสาหะคิดค้นลงไปแทน กลายไปเป็นแบบเสื้อในแบรนด์ของเขาแทน ไม่มีการสั่งวัตถุดิบจากบ้านเราไปใช้ ไม่ว่าจะเป็นผ้าไหม ผ้าฝ้าย ผ้ายก หรือผ้าปักใด ๆ เลย สินค้าหัตถกรรมของเราจึงไม่มีโอกาส ไปอยู่คอลเลคชั่นของแบรนด์ชั้นนำของโลกได้เลย นี่เป็นสิ่งที่ดิฉันเสียดายมากค่ะ”

ทั้งนี้ยกเว้นบริษัทจิมป์ ทอมสัน ที่ผูกใจรักใคร่กับประเทศไทย มาอย่างยาวนานจนทุกวันนี้ กับห้องเสื้อกิโมโนที่ญี่ปุ่น ในช่วงที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินาถได้ทรงปูทางไว้กับประมุขของญี่ปุ่นและอีกหลายประเทศ แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าขณะนี้ทรงพระประชวรไม่สามารถทรงงานต่อได้

 

ประสบการณ์องค์กรการกุศลและกิจกรรมทางด้านบันเทิงของหม่อมดาว150331-songkran-3

การทำงานขององค์กรการกุศล มักจะเป็นกิจกรรมเกี่ยวกับ การระดมทุนเพื่อหารายได้ ฉะนั้นหลักการคัดเลือกนักร้อง นางแบบ และพิธีกรกิตติมศักดิ์ นอกจากจะเลือกจากบุคคลที่มีความสามารถแล้ว บุคคลนั้นจะต้องเป็นผู้มีใจกุศล สามารถเสียสละทรัพย์เพื่อร่วมสมทบในกิจกรรมนั้นได้ด้วย

หรือหากเป็นนักแสดงอาชีพ อย่างน้อยก็ต้องไม่คิดค่าตัวในการแสดงก็ไม่ ยากอะไร ผู้ฝึกสอนจะไม่จ้ำจี้-จำไช กับผู้แสดงผู้สูงอายุมาก เน้นความเรียบง่ายเป็นตัวของตัวเอง แต่หากเป็นเด็กสาว ๆ ที่เป็นลูก-หลานกรรมการ เขาแข็งแรงคล่องตัวกว่า ก็อาจมีการฝึกสอน เพื่อให้ได้ใกล้เคียงนักแสดงอาชีพ คนดูจะได้ ไม่เบื่อ

งานพิธีกร ก็ว่ากันไปตามสคริปต์ แต่ผู้ที่เป็นพิธีกรควรปฎิภาณไวพริบ สามารถแก้ไขเหตุการณ์เฉพาะหน้าได้ เพราะบางเรื่องอาจไม่สามารถเป็นไปได้จริงตามสคริปต์

 

ความหวังของพ่อ - แม่ สร้างชื่อเสียงให้ประเทศไทย ส่งกำลังใจแด่คนไทยที่อยู่ในต่างแดน 

นักเรียนไทยทุกคน โปรดจำไว้ว่าคุณเป็นความหวังของคุณพ่อ-คุณแม่ การเรียนหนังสือในต่างแดน ต้องใช้ทุนทรัพย์สูงมาก บางครอบครัวต้องจำนอง จำนำ หลักทรัพย์ เพื่อให้ลูกหลานได้มีโอกาส ขอได้โปรดทำให้ท่านสมหวัง และเพื่ออนาคตของคุณเองด้วย โปรดนำความรู้และวิทยาการได้ศึกษา มาช่วยกันพัฒนาประเทศไทยของเรา ให้ก้าวหน้า เท่าเทียมอารยะประเทศ

ส่วนผู้ที่ไปทำงาน หรือผู้ที่ตั้งรกรากอยู่ในต่างประเทศ พวกคุณคือผู้เสียสละ ที่ยอมพลัดจากบ้านเกิดเมืองนอนไปอยู่แดนไกล เพราะไม่มีที่ไหนในโลกนี้อบอุ่นเหมือนอยู่ในประเทศไทย

และพวกคุณคือผู้ที่นำรายได้เข้าประเทศอีกทางหนึ่ง เพราะส่วนหนึ่งของรายได้ คุณอาจต้องส่งกลับมายังบ้านเกิดของคุณเอง
และหลาย ๆ ท่านได้ไปสร้างชื่อเสียงในทางดี ๆ ในหลาย ๆ ประเทศทำให้คนต่างชาติ เห็นว่า คนไทยก็เป็นคนดีและคนเก่ง เขาเหล่านั้นล้วนเป็นความภาคภูมิใจ เป็นภาพพจน์ ที่งดงามของประเทศไทย
และดิฉันก็ดีใจที่ได้ทราบข่าวว่า คนไทยในต่างแดน มีการรวมตัวกันอย่างเหนียวแน่นเป็นชุมชนใหญ่ โดยมีวัดไทยเป็นศูนย์รวม เพื่อช่วยกันสืบสานภาษาไทย และประเพณีของไทย ให้เป็นสมบัติของลูกหลานในแดนไกล ให้คงอยู่ต่อไป
และขอเป็นกำลังใจ ให้ทุกท่านฟันฝ่าอุปสรรคทุกอย่าง ได้อย่างราบรื่น และใช้ชีวิตในต่างแดน ได้อย่างมีความสุขสมบูรณ์ดังปราถนาทุกประการค่ะ

ม.ล. ปุญยนุช เกษมสันต์ ดุลยจินดา

 

 150331-songkran-2

ประวัติโดยสังเขป
ชื่อ - สกุล ม.ล. ปุญยนุช เกษมสันต์ ดุลยจินดา ปัจจุบัน อายุ 56 ปี
การศึกษาระดับปริญญาตรี สถานภาพสมรส กับ นายสุรัศมิ์พรรณ ดุลยจินดา อดีตรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายบริหาร 

มีบุตร ชาย – หญิง 2 คน อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานคร ประเทศไทย

ประวัติการทำงาน

  • เคยทำงานด้านประชาสัมพันธ์ (ดูแลสื่อมวลชน) ที่โรงแรมชั้นหนึ่งหลายแห่ง
  • ปัจจุบันเป็นแม่บ้าน และช่วยงานองค์กรการกุศลเป็นครั้งคราว อาทิเช่น
  • ที่ปรึกษาสโมสรซอนต้ากรุงเทพฯ
  • สมาชิกสบทบ สภาสตรีแห่งชาติ
  • กรรมการ ชมรมเส้นสายบนลายไหม ด้วยใจภักดิ์

 

และนั่นคือคำแนะนำพร้อมความปราถนาดีจาก "หม่อมดาว" สตรีที่งามพร้อมทั้งรูปลักษณ์ภายนอกและภายใน จนได้รับการกล่าวขานว่าเป็น ไฮโซสาวใจบุญคนหนึ่งของประเทศไทย และที่สำคัญคือ ม.ล ปุญยนุช เพิ่งได้รับตำแหน่ง The 500 List of Thailand’s Who’s Who magazine ประจำปี 2015 ที่ผ่านมาด้วย

ผู้เขียนและทีมงานเว็บไซต์ขอร่วมแสดงความยินดี และขอกล่าวคำขอบพระคุณมาหม่อมดาว ณ ที่นี้ด้วยค่ะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การที่ท่านได้เล็งห็นถึงความสำคัญและเปิดโอกาสให้คนไทยในต่างแดนได้รับรู้ถึง ประวัติของท่านรวมถึงแนวทางการอนุรักษ์ศิลปะ วัฒนะธรรมไทย ประเพณีไทยและผ้าไทย ให้คงอยู่สืบต่อคู่กับประเทศไทยตลอดไป

ปรับปรุงล่าสุดเมื่อ 09 เม.ย. 2015
Miss Brisbane

Fashion Editor
MaBrisbane.com

 

เวปไซต์: www.facebook.com/serena.denis.1