วันศุกร์, 11 ตุลาคม 2567

Booking.com

ศัพท์สแลงออสซี่ รู้ไว้คุยเพลิน

เผยแพร่เมื่อ 25 สิงหาคม 2567 โดย พริกขี้หนู
ศัพท์สแลงออสซี่ รู้ไว้คุยเพลิน Image by freepik

ชาวออสเตรเลียมีความภูมิใจมายาวนานในการปรับภาษาอังกฤษมาใช้เอง ในกลุ่มประเทศที่พูดภาษาอังกฤษ ออสเตรเลียขึ้นชื่อเรื่องการชอบย่อคำ อย่าง sunglasses เป็น sunnies, swimsuit เป็น swimmers, afternoon เป็น arvo เป็นต้น คำแสลงของชาวออสซี่กลายเป็นหัวข้อบันเทิงออนไลน์ สำนวนต่าง ๆ กลายเป็นเทรนด์บน TikTok หรือถูกแพร่เข้าสู่วัฒนธรรมประชานิยม

Amanda Laugesen หัวหน้าบรรณาธิการของ Australian National Dictionary ผ่านทางมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย (ANU) กล่าวว่า สำนวนออสซี่หลายอันมีรากฐานมาจากภาษาอังกฤษแบบอังกฤษ (British English) แต่ภาษาอังกฤษแบบออสเตรเลียยังได้รวมคำจากภาษาพื้นเมืองของประเทศไว้อย่างมีเอกลักษณ์ด้วย ความเป็นธรรมและการต่อต้านเผด็จการกลายเป็นธีมหลักของการพัฒนาภาษา

หากใครที่กำลังจะขอเป็นชาวออสเตรเลีย หรือวางแผนจะมาเที่ยว สำนวนเหล่านี้อาจช่วยในการสื่อสารได้อย่างดี

 

Have a yarn

A yarn ในออสเตรเลีย เป็นอีกคำที่ใช้แทน a chat (การสนทนา พูดคุย) “To have a yarn” หมายความว่า คุยกันหน่อย

A yarn โดยตัวมันเองหมายถึง เรื่องราว เช่น someone might “have a yarn for you.”

 

Hard yakka

ANU ให้ความหมายของ yakka ว่า งานหนัก งานที่ต้องออกแรงอย่างมาก โดยมีต้นกำเนิดมาจากคำว่า “yaga” หมายถึง งาน ในภาษา Yagara ซึ่งเป็นภาษาดั้งเดิมของชาว Yagara ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ตอนนี้เป็นที่รู้จักกันว่า Brisbane

 

Yeah, nah

ชาวออสซี่ชอบพูด “yeah” ก่อนจะแสดงความคิดเห็น มันเลยเกิดความสับสนบ้างว่าตกลงเขา say yes หรือว่า no เช่น เวลาเขาพูด “yeah, nah” นั่นหมายความว่า “no”

“Are you going to come to the beach today?”

“Yeah, nah don’t think so.”

 

Far out

ชาวออสซี่ใช้วลีนี้เพื่อแสดงความคับข้องใจในสถานการณ์นั้น ๆ บางครั้งก็พูดว่า “far out Brussel sprout!”

 

Woop woop

ใช้อธิบายสถานที่ซึ่งอยู่ห่างไกลออกไป โดยมากหมายถึงสถานที่ห่างไกลปลีกตัวออกไป บางครั้งมีนัยว่าห่างไกลความเจริญ

“They’re living out in woop woop.”

 

To have head noise

วัยรุ่นออสซี่หลายคนใช้วลีนี้เวลาที่พวกเขารู้สึกวิตกกังวล กระวนกระวายใจ หรือถ้าเรากำลังคิดเรื่องอะไรมากไป จะพูดว่า “I’m noisy.”

 

Put a sock in it

ง่าย ๆ เลย คือ หยุดพูด หรือ ให้เงียบ ๆ อาจฟังดูแรงหน่อย แต่ในวัฒนธรรมออสซี่ที่แท้จริง มันไม่ใช่คำพูดที่ก้าวร้าวหรือรุนแรงเท่าไร

 

Tell him he’s dreaming

วลีนี้มาจากภาพยนตร์คลาสสิกของออสเตรเลียเรื่อง "The Castle" ซึ่งตัวละครหลักคือ Daryl Kerrigan ต่อสู้เพื่อบ้านของเขาในขณะที่ธนาคารพยายามที่จะซื้อที่เพื่อขยายสนามบิน ทุกครั้งที่ Kerrigan ถูกยื่นข้อเสนอเขาจะพูดวลีนี้เพื่อปกป้องบ้านของเขา ในปัจจุบัน สำนวนนี้ได้แทรกซึมเข้าไปในวัฒนธรรมออสเตรเลีย และถูกใช้บ่อย ๆ ในการตอบข้อเรียกร้องที่มากเกินไป

ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ชาวออสเตรเลียเริ่มชอบสำเนียงและภาษาที่โดดเด่นของตัวเอง ซึ่งทำให้ชาวออสเตรเลียแตกต่างจากชาวอังกฤษอย่างเห็นได้ชัด ส่วนใหญ่เป็นภาษาพูดและไม่ค่อยเป็นทางการ (คำสบถเบา ๆ) ซึ่งในปัจจุบันถือว่าเป็นการใช้คำของชาวออสเตรเลียอย่างชัดเจน


Crack the s*its

อาจจะเป็นสำนวนที่ฟังดูแล้วไม่ค่อยเพราะเท่าไร แต่มันไม่ได้หมายความไปอย่างที่คิด มันมีความหมายว่า โกรธมากกับสถานการณ์นั้น เป็นอีกวิธีพูดว่า “มีอารมณ์ฉุนเฉียว”

 

The ants’ pants

หากใครถูกบอกว่าเป็น ants’ pants มีความหมายว่าคนนั้นคือดีที่สุด (they’re the best) เป็นสำนวนที่แสดงถึงความยอดเยี่ยม

 

A battler

คือ นักสู้ คนที่ฝ่าฟันอุปสรรคแม้ว่าสถานการณ์จะยากลำบากก็ตาม อาจใช้อธิบายบุคคลที่มีข้อได้เปรียบบางอย่างตามธรรมชาติ ที่ทำงานอย่างไม่ลดละแต่ได้รับรางวัลเล็กน้อย คนที่ต่อสู้ดิ้นรนเพื่อหาเลี้ยงชีพ (และคนที่แสดงความกล้าหาญในการทำเช่นนั้น)

 

Calm your farm

คือ ผ่อนคลาย ใช้บอกคนอื่นให้ใจเย็น ๆ

 

Flat out like a lizard drinking

ทำงานนั้น ๆ ให้หนักที่สุดเท่าที่จะทำได้ เช่น เวลามีใครโทรมาในขณะที่เรากำลังทำงานอยู่ เราอาจตอบกลับไปว่า “Can’t talk, I’m flat out like a lizard drinking.”

 

No wukkas

No worries, don’t worry about it, all good คือ ไม่มีปัญหา สบายมาก

 

She’ll be right

โดยการอ้างอิงจาก ANU ภาษาอังกฤษแบบออสเตรเลียมักใช้สรรพนาม “she” ในขณะที่ภาษาอังกฤษมาตรฐานจะใช้ “it” สำนวนนี้จึงหมายความว่า ทุกอย่างโอเค

 

Bogan

คำนี้ได้ยินค่อนข้างบ่อย ตามพจนานุกรมของ ANU หมายถึง บุคคลที่ไม่มีวัฒนธรรม หรือไร้การศึกษา คำนี้เคยใช้สำหรับดูถูก แต่ไม่นานมานี้ถูกใช้กันอย่างแพร่หลายในบริบทที่ไม่ได้เป็นไปในเชิงลบหรือเสื่อมเสีย

 

To do a Bradbury

ในโอลิมปิกฤดูหนาวปี 2002 Steven Bradbury นักกีฬาสเก็ต ในการแข่งความเร็วระยะสั้น 1,000 เมตรรอบชิงชนะเลิศชาย ได้ตามหลังกลุ่มนักสเก็ตที่กำลังนำหน้าอยู่ ทันใดนั้นคนที่นำอยู่ก็ล้มลง ทำให้นักกีฬาคนอื่นที่เกาะกลุ่มกันไปล้มไปด้วย Bradbury ซึ่งตามอยู่โดยมีช่องว่างห่างออกไปพอสมควร เร่งผ่านกลุ่มนั้นแล้วคว้าเหรียญทอง กลายเป็นแชมป์โอลิมปิกฤดูหนาวคนแรกของออสเตรเลีย

เหตุการณ์นั้นมีชื่อเสียงโด่งดังทั่วออสเตรเลีย สำนวนนี้จึงถูกใช้เมื่อมีคนประสบความสำเร็จในสิ่งที่พวกเขาไม่คาดคิดมาก่อนว่าจะเป็นไปได้

 

Have a sook

“Sook” เป็นคำที่ชาวออสเตรเลียใช้เมื่อใครบางคนไม่ได้ดั่งใจแล้วคนนั้นจิตตกหรือหงุดหงิด บางทีก็จะพูดว่าคนนั้นกำลังเป็น “sooky la la” หากเขาอารมณ์ไม่ดีจากการผิดหวัง

 

A chook

คือ ไก่

 

‘I didn’t come down in the last shower!’

สำนวนที่ชาวออสซี่ใช้เพื่อบอกว่าพวกเขาไม่ได้โง่ สามารถใช้ตอบกลับคนที่คิดว่าคุณเป็นคนโง่ และบ่งบอกว่าคุณมีประสบการณ์หรือความฉลาดมากกว่าที่คิด บางครั้งก็สามารถใช้ตอบกลับเวลามีคนมาบอกแนะนำให้เราทำแบบนั้นแบบนี้ ในสิ่งที่เรารู้อยู่แล้วหรือเป็นสิ่งที่คนทั่วไปรู้

 

Just add an ‘o’

สิ่งหนึ่งที่ชาวออสซี่ชอบทำก็คือการเติม “o” หรือ “ie” ไว้ท้ายคำเพื่อย่อคำ เช่น

  • Servo คือ ปั๊มน้ำมัน ย่อมาจาก service station
  • Ambo คือ ambulance officer
  • Bottle-o ในออสเตรเลียเราจะซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้จากร้านที่มีใบอนุญาตเท่านั้น ซึ่งเป็นชื่อเรียกของร้านพวกนี้
  • Arvo ไม่ใช่ avo (ย่อมาจาก avocado) ใช้เรียกเวลาช่วงบ่าย afternoon

 

ที่มา: https://edition.cnn.com/travel/australian-slang-words-terms-visitor/index.html

ปรับปรุงล่าสุดเมื่อ 25 ส.ค. 2567
พริกขี้หนู

พริกขี้หนู

ไอเท็มที่เกี่ยวข้องอื่นๆ (จาก Tag)