ตามติดชีวิตเด็กมหาลัยเมืองนอก ตอนที่ 2

เผยแพร่เมื่อ 19 ก.ค. 2016 ผู้เขียน
ต่อเนื่องจากตอนที่แล้ว (ตอนที่ 1) เราจะมาเล่ากันต่อถึงเรื่อง ชีวิตการเรียนในระดับมหาวิทยาลัยของออสเตรเลีย กันค่ะ เพื่อเป็นแนวทางสำหรับเพื่อน ๆ ที่สนใจกำลังคิดจะเรียนต่อที่นี่ โดยในแต่ละคณะและสาขาวิชาจะมีวิชาเรียนและเนื้อหาแตกต่างกันไป โดยหลังจากเปิดเทอมเนื้อหาการเรียนก็เริ่มที่จะเข้มข้นขึ้น งานกลุ่มเริ่ม Start up กันแล้ว เอาเป็นว่า เราไปลุยกันในแต่ละวีคกันเลยดีกว่าว่าต้องเจอกับอะไรบ้าง

 lecture2

 

Week 3: Lecture 

ตารางการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยที่เราเรียนนั้น นักเรียนจะสามารถเข้าไปดูตารางเรียนออนไลน์ได้ใน Website หรือ Blackboard (bb) (แต่ละมหาวิทยาลัยจะไม่เหมือนกันค่ะ) ซึ่งการเช็คตารางเรียนล่วงหน้าจะสามารถช่วยทำให้เราวางแผนการเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และการเรียนบรรยาย หรือ Lecture อาจารย์ผู้สอนก็จะโพสเนื้อหาการเรียนก่อนจะเริ่มเรียนในวีคนั้น ๆ โดยอาจจะแจ้งการเตือนผ่านทาง Student email หรือ Blackboard ค่ะ อย่างการเรียนในออสเตรเลียจะเน้นการติดต่อสื่อสารระหว่างผู้สอนและนักเรียนผ่านทาง email และ bb เป็นหลักค่ะ เพราะสามารถเก็บเป็นหลักฐานได้และสะดวกสำหรับอาจารย์บางท่านที่ไม่ได้มีออฟฟิตอยู่ในมหาวิทยาลัยค่ะ อีกทั้งการตั้งคำถามผ่านทาง Group class นั้นยังช่วยให้นักเรียนคนอื่นสามารถเข้ามาอ่านในคำถามและคำตอบจากอาจารย์ได้อีกด้วยค่ะ ถือว่าเป็นการแชร์ไอเดียได้อีกทางหนึ่ง ซึ่งจะเห็นได้ว่า เราจึงต้องติดตามข้อมูลข่าวสารอยู่เสมอ เพราะหากมีการเปลี่ยนแปลงอะไร เราจะสามารถรับรู้ได้ทันที อย่างเช่น การยกเลิกคลาสในวีคนั้น ๆ เนื่องจากอาจารย์ติดธุระ เป็นต้น
  lecture1

 

Week 4: Tutorial

การเรียน lecture จบภายใน 3 วีคแรก เป็นอะไรที่โหดร้ายมากสำหรับนักเรียนป.โทอย่างเรา เพราะเนื้อหาทั้งหมดจะอัดแน่นจากผู้สอนที่พยายามยัดเยียดให้เราภายในหกชั่วโมงต่อเนื่อง แต่สมองเรานั้นโฟกัสได้แค่สองชั่วโมงแรกเท่านั้น แต่ยังโชคดีหน่อยที่อาจารย์เพิ่มคลาส tutorial มาให้ คือ การเรียนทำแบบฝึกหัด การฝึกทำโจทย์ การคำนวณ เป็นต้น โดยอาจารย์จะเตรียม case study มาให้ แล้วเราแบ่งเป็นกลุ่มกันทำโจทย์ หลังจากนั้นก็มา discuss กันในห้องว่าใครมีความคิดเห็นอย่างไร หากไม่เข้าใจตรงไหนให้ยกมือถามได้ทันที ซึ่งบางครั้งการไม่เข้าเรียน lecture เราอาจจะอ่านชีทตามหรือฟัง lecture online ย้อนหลังได้ แต่การไม่เข้า tutorial เราอาจจะพลาดไอเดียหรือความเข้าใจของทฤษฎีที่เราต้องนำมาปรับใช้ชีวิตจริงไปเลยก็ได้ค่ะ 

Census date: คือสัปดาห์ที่มหาวิทยาลัยจะหยุด 1 สัปดาห์เพื่อจัดการการลงทะเบียนของนักเรียนให้เสร็จสมบูรณ์ในเทอมนั้น ๆ โดยกฏของมหาวิทยาลัยจะกำหนดไว้ว่า หากนักเรียนต้องการที่จะเพิกถอนในรายวิชานั้น ๆ ก่อนวัน Census date จะไม่ต้องเสียค่าหน่วยกิตค่ะ ง่าย ๆ ก็คือ หากเราลงทะเบียนเรียนไปแล้ว อยากเปลี่ยนวิชาเรียนก็ยื่นดรอปให้ทันค่ะ เพราะหากเรายื่นดรอปหลังจากวันนั้นอาจจะต้องเสียค่าหน่วยกิตในวิชานั้นไปฟรี ๆ เลยค่ะ และการหยุดเรียนหนึ่งสัปดาห์นี้ยังช่วยให้เรามีเวลาอ่านหนังสือเตรียมตัวสอบ midterm อีกด้วยค่ะ ... แต่สำหรับวิชาที่เราลงเรียนในเทอมนี้ไม่มีสอบ midterm เราเลยหนีเที่ยวกับเพื่อน ๆ ในคลาสกันค่ะ ฮ่า ๆ ๆ ๆ 

 

dropbox

 

Week 5 & Week 6: Applications

หลังจากเราหยุดยาวไปแล้ว ก็กลับมาลุยโปรเจคกันต่อ ซึ่งทุกวิชาในเทอมนี้ เราได้รับ Assignment เป็น Group project หมดทุกวิชาเลย แต่ในความโชคร้ายก็ยังมีความโชคดีก็มีอยู่บ้าง เพราะเราและเพื่อนในกลุ่มนั้นตัดสินใจอยู่กลุ่มเดียวกันเกือบทุกวิชา จึงทำให้การนัดประชุมหรือทำงานกลุ่มได้นั้นทำได้ง่ายขึ้นค่ะ ทั้งนี้เราก็มีตัวช่วยในการติดต่อสื่อสารกับเพื่อนผ่านทาง WhatsApp เพราะโดยส่วนใหญ่ต่างชาติจะใช้แอพนี้คุยกัน แต่ถ้าเป็นคนจีนก็จะใช้ Wechat ส่วนคนไทยและญี่ปุ่นก็ใช้ Line

ส่วนการแชร์ไฟล์งานกับเพื่อนในกลุ่ม เราก็เลือกใช้ Dropbox ค่ะ ซึ่งเราสามารถจัดการไฟล์ของเราให้สวยงามและใช้งานง่ายขึ้น เช่น การแยกไฟล์งานตามรายวิชาหรือโปรเจคค่ะ โดยการแชร์งานผ่าน Dropbox ก็มีข้อดีคือ ฟรีและใช้งานง่ายค่ะ และเราสามารถเห็นชื่อและเวลาที่เราอัพโหลดไฟล์นั้น ๆ ได้อีกด้วยค่ะ ทีนี้เราก็จะเห็นเลยว่าเพื่อนคนไหนส่งงานเข้ากลุ่มแล้ว หรือคนไหนแก้ไขอะไรไป

 group-meeting

 

Week 7: Mid-semester

ผ่านมาแล้วครึ่งเทอม เรารู้สึกว่าเวลามันผ่านไปไว้มาก โปรเจคเดี่ยวก็ยังทำอะไรไม่ถึงไหนเลย แถมงานของโปรเจคกลุ่มก็เริ่มเยอะขึ้นทุกที เนื้อหาที่เรียนบางวิชาก็เข้มข้นขึ้น เรารู้สึกชีวิตช่วงนี้หนักหน่วงมาก ทั้งทำงานพาทไทม์และเรียนไปด้วยมันหนักมาก อยากจะหยุดงานแล้วหันมาเรียนอย่างเดียว แต่มันก็เป็นไปไม่ได้เพราะต้องหาเงินมาใช้จ่ายค่ากินอยู่ในแต่ละวีค ฉะนั้น..สิ่งที่เราทำได้คือ...ต้องขยันกว่าเดิมและจัดตารางเวลาในแต่ละวัน แต่ละสัปดาห์ค่ะ เพราะมิฉะนั้นชีวิตจะถึงจุดจบทันที ซึ่งตอนนี้เราจะพักผ่อนได้น้อยลงกว่าเดิมค่ะ แต่เราก็ไม่ลืมที่จะรักษาสุขภาพร่างกายของเราให้แข็งแกร่งอยู่เสมอ ห้ามป่วยเด็ดขาด!! วิตามินและผลไม้อัดเข้าไปเยอะ ๆ ค่ะ แน่นอนว่าผลกระทบที่ตามมาสำหรับเราคือ "ความเครียด" จากการเรียนส่งผลโดยตรงตอนทำงานค่ะ อาจจะเป็นเพราะพักผ่อนน้อย เรียนหนัก เลยทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดน้อยลง ง่าย ๆ เลยคือ ทำงานแล้วเบลอค่ะ ฮ่า ๆ ๆ ๆ ดังนั้น..อย่างที่เราเคยบอกไป อย่าให้เรื่องเรียนมากระทบกับงานค่ะ เราจึงต้องหาเวลาพักบ้าง หาเวลาผ่อนคลายบ้าง เช่น การกินอาหารอร่อย ๆ หรือของหวาน หรือหากิจกรรมทำ อย่างเราก็ระบายทุกอย่างลงบทความนี่หละค่ะ ฮ่า ๆ ๆ (มันช่วยได้จริง ๆ น้าา)

 

ผ่านไปแล้วเกือบครึ่งเทอม สำหรับความคิดเห็นของเรา.. การเรียนมหาวิทยาลัยในต่างประเทศกับในประเทศไทย ค่อนข้างต่างกันอย่างสิ้นเชิง ทั้งระบบการเรียนการสอน ภาษา เพื่อนในห้อง วัฒนธรรม และที่สำคัญที่สุดคือ การนำเอาเทคโนโลยีมาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน เพื่อทำให้การติดต่อสื่อสารกันง่ายขึ่น อย่างไรก็ตาม..การเรียนให้มีประสิทธิภาพที่สุดต้องขึ้นอยู่กับตัวผู้เรียนเองด้วยเช่นกัน ความขยัน ความตั้งใจ และการวางแผนในชีวิตประจำวันเป็นสิ่งจำเป็น และอย่าลืมที่จะจัดการตารางเวลาตัวเอง เพื่อที่เราจะสามารถทั้งเรียน ทำงาน และเที่ยวเล่น ได้อย่างมีประสิทธิภาพค่ะ 

 

ปาโปย ปาโปย

ขาใหญ่มหาชัย