สั่งพิมพ์หน้านี้

5 อันดับออสซี่ฟาสต์ฟู้ดกับทางเลือกเพื่อสุขภาพ ไอเท็มน่าสนใจ

เผยแพร่เมื่อ 11 มี.ค. 2014 ผู้เขียน

เมื่อต้องออกนอกบ้านเพื่อมาเรียนหรือทำงานบางครั้งเราก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องหาไรทานตอนพักเที่ยง แต่อย่างที่เรารู้ดีว่าที่บริสเบนหรือเมืองอื่นๆในออสเตรเลียเต็มไปด้วย อาหารแบบซื้อกลับ(Takeaway Food) และส่วนใหญ่ของอาหารแบบนี้จะเป็นอาหารแบบจานด่วนหรือที่เราเรียกกันว่า ฟาสต์ฟู้ด(Fast Food) ซึ่งอาหารประเภทนี้มักจะมีปริมาณพลังงานหรือสารอาหารบางอย่างสูงเกินกว่าที่ร่างกายต้องการ และเมื่อสะสมในร่างกายประมาณมากก็จะก่อให้เกิดโทษต่อร่างกาย แม้เราจะมีตัวเลือกอื่นที่ดีกว่าในการเลือกทาน แต่ในบางครั้งเวลาก็ไม่เอื้ออำนวยที่จะเลือกได้

ในอาหารฟาสต์ฟู้ดจะมีส่วนประกอบที่ไม่ค่อยพึงประสงค์ต่อร่างกายสูง ได้แก่ เกลือหรือโซเดียม น้ำตาล ไขมัน คาร์โบไฮเดรต สำหรับคนที่ทานอาหารประเภทนี้เป็นประจำก็จะได้รับในปริมาณที่เกินกว่าที่ร่างกายต้องการ

ในร้านฟาสต์ฟู้ดชื่อดังส่วนใหญ่จะมีการระบุปริมาณพลังงาน แคลอรี่(Calories, Cal) หรือ กิโลจูล(kJ) กำกับอยู่ในเมนูอาหารด้วย การเลือกเมนูอาหารทานจากวิธีนี้ก็เป็นอีกทางเลือกที่สามารถใช้ได้ โดยปกติแล้วร่างกายของผู้ใหญ่หรือวัยทำงานสำหรับคนไทยจะมีความต้องการพลังงานจากอาหารเฉลี่ยอยู่ที่ 2,000 Cal หรือเท่ากับ 8,400 kJ (1 Cal = ประมาณ 4.2 kJ)[1] ซึ่งหากคิดดูเล่นๆแล้วฟาสต์ฟู้ดมื้อหนึ่งมีพลังงานเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 2,500-3,500 kJ การทานฟาสต์ฟู้ด 2 มื้อต่อวัน เราจะได้รับพลังงานเกือบจะเท่ากับปริมาณทั้งหมดที่ร่างกายต้องการ และถ้ายิ่งทานน้ำอัดลมพร้อมกับของทานเล่นที่มาด้วยกันแบบเป็นเซทด้วยแล้ว ก็จะได้รับเกินจนไปสะสมอยู่ตามส่วนต่างๆของร่างกาย

ร้านฟาสต์ฟู้ดที่ได้รับความนิยมในออสเตรเลีย (เรียงตามความนิยม)

  1. Subway
  2. Hugry Jack's
  3. Red Rooster
  4. KFC
  5. McDonald's (Macca's)

ทางเว็บ Mabrisbane ของเราได้ลองสำรวจข้อมูลเกี่ยวกับฟาสต์ฟู้ดของชาวออสซี่ โดยตรวจสอบจากผลสำรวจของสำนักสถิติต่างๆที่น่าเชื่อถือ และการวิเคราะห์จากข้อมูลปริมาณสารอาหารในเว็บของแบรนด์เจ้าของเมนูเองซึ่งเป็นข้อมูลล่าสุด ณ เดือน มีนาคม 2014 โดยสรุปเป็นความเห็นและมุมมองจากผู้เขียนเอง เกริ่นมาซะยาวเลย ทีนี้เรามาดูกันว่า.. "ฟาสต์ฟู้ดเมนูไหนเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดและเมนูไหนไม่ดีต่อสุขภาพ" ซึ่งเราได้เลือกเอาจากร้านฟาสต์ฟู้ด 5 อันดับแรก ที่ได้รับความนิยมสูงสุดในออสเตรเลียจากผลสำรวจของ Roy Morgan Research[2] โดยเลือกเฉพาะรายการอาหารจาก Burgers, Wraps และ Rolls

1) Subway

Subway

ดีที่สุด: Chicken Strips (1,150 kJ, fat 4.2 g, sodium 568 mg)
จริงๆแล้วมีอีกหนึ่งเมนูที่ดีกว่านั่นก็คือ Veggie Delite แต่เนื่องจากเมนูดังกล่าวมีแต่ผัก ร่างกายอาจได้รับปริมาณสารอาหารไม่เพียงพอและอาจจะไม่ค่อยอยู่ท้อง จึงคิดว่า Chicken Strips น่าจะเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดสำหรับ Subway

ไม่ดีต่อสุขภาพ: Chicken Parmigiana Melt (1,960 kJ, fat 14.7 g, sodium 963 mg)
เมนูนี้อยู่ในส่วนของ Premium subs ซึ่งมองดูแล้วน่าทานมาก แต่ว่ามากด้วยปริมาณพลังงาน ไขมัน และ โซเดียม ถ้าหากสั่งเพิ่มเป็นขนาด 1 ฟุตด้วยแล้วก็ยิ่งเพิ่มพลังงานเป็นแบบคูณสอง มีอีกเมนูหนึ่งที่ใกล้เคียงกันนั่นคือ Chicken & Bacon Ranch Melt (1,800 kJ, fat 17.3 g, sodium 1,070 mg) มีพลังงานน้อยกว่าแต่ว่าไขมันและโซเดียมสูงกว่า

2) Hungry Jack’s

Hungry Jack's

ดีที่สุด: TenderGrill Peri Peri (1,124 kJ, fat 3.9 g, sodium 539 mg)
ด้วยขนาดกำลังพอดี มาพร้อมกับไก่ย่างและผัก รสชาติเผ็ดนิดๆซึ่งน่าจะถูกปากคนไทย ดังนั้นเมนูนี้จึงน่าจะดีที่สุดสำหรับคนรักสุขภาพ อีกทั้งยังมีไขมันต่ำและแป้งไม่เยอะอีกด้วย แต่ถ้าหากใครอยากทานเนื้อจะลองเปลี่ยนเป็นอีกเมนูก็ได้นั่นคือ Whopper Junior ซึ่งมีพลังงานอยู่ที่ 1456 kJ ไขมันสูงหน่อยที่ 18.3g  แต่โซเดียมน้อย 412 g

ไม่ดีต่อสุขภาพ: Ultimate Double Whopper (5,035 kJ, fat 76.7 g, sodium 1,863 mg)
เมนูนี้ถือว่าเป็นสุดยอดของอาหารยอดแย่ต่อสุขภาพที่สุดของออสเตรเลียก็ว่าได้ ซึ่งหลายๆเว็บไซต์ของออสซี่แม้แต่ Consumer wachdog ก็ยกให้เป็น “Australia's unhealthiest burger” เนื่องจากมีปริมาณพลังงาน ไขมัน และโซเดียมที่สูงมากกกก

3) Red Rooster

Red Rooster

ดีที่สุด: Classic Crispy Burger (1820 kJ, fat 21.1 g, sodium 757 g)
แม้จะดูเหมือนเรียบๆไม่มีอะไรแต่เนื่องจากเป็นไก่ทอดจึงยังทำให้มีไขมันอยู่สูง แต่คิดว่าน่าจะดีที่สุดแล้ว โดยก่อนหน้านี้ Red Rooster มีเมนู Free Range D’Lish ให้เลือกและเป็นเมนูที่ดีต่อสุขภาพมากกว่า แต่ไม่แน่ใจว่าเอาออกไปหรืออย่างไร

ไม่ดีต่อสุขภาพ: Bacon & Cheese Rippa (3,580 kJ, 840 cal, fat 36.4 g, sodium 2,050 mg)
ไก่ทอดแบบกรอบ 2 ชิ้น มาพร้อมขนมปังขนาด 8 นิ้ว เบคอน และ ชีส ราดด้วยมายองเนสและซอสบาบีคิว เมนูนี้จึงมีพลังงานและไขมันสูง แต่ที่น่าตกใจมากขึ้นไปอีกนั่นคือมีโซเดียมสูงมาก เนื่องจากส่วนประกอบทุกอย่างล้วนแต่มีเกลือเป็นเครื่องปรุงรส

4) KFC

KFC

ดีที่สุด: Original Burger (1,855 kJ, fat 15.9 g, sodium 744 mg)
แม้เมนูนี้จะถือว่าดีที่สุด แต่ก็ไม่ค่อยน่าพอใจเท่าไหร่นัก เนื่องด้วยปริมาณไขมันและโซเดียมที่ถือว่ายังสูงอยู่ แต่ก็ถือว่าเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดหากจะลองทานเบอร์เกอร์ของ KFC

ไม่ดีต่อสุขภาพ: Original Tower Burger (2,943 kJ, fat 32.9 g, sodium 1,562 mg)
ด้วยไก่ทอดชิ้นโตมาพร้อมกับ hash brown และ ชีส แน่นอนว่าเมนูนี้ไขมันสูงมาก อีกทั้งซอสที่ราดมาและเครื่องปรุงรสในไก่ทอดจึงตามมาด้วยโซเดียมปริมาณมากเช่นกัน

5) McDonald’s (Macca's)

McDonald’s

ดีที่สุด: Grilled Chicken & Honey Soy McWrap (2160 kJ, fat 21.1 g, sodium 1070 g)
เป็น wrap เมนูใหม่ของแมคฯ มาพร้อมกับกับไก่ย่าง หมีกรอบ และผัก มองดูแล้วน่าทาน แต่มีโซเดียมเยอะนิดนึงเนื่องจากใช้ซอสแบบ Honey soy

ไม่ดีต่อสุขภาพ: Double Quarter Pounder (3,570 kJ, fat 53.3 g, sodium 1,350 g)
เนื้อชิ้นโต 2 ชิ้น แทรกด้วยชีสถึง 3 แผ่น พร้อมทั้งซอสมัสตาร์ด เมนูนี้ต้องบอกได้เลยว่าสำหรับคนหิวจัดเท่านั้น ซึ่งมาพร้อมกับพลังงานและไขมันมหาศาล

 

จะเห็นได้ว่ามีอยู่หลายเมนูของอาหารฟาสต์ฟู้ดในออสเตรเลียที่ไม่ค่อยดีต่อสุขภาพเท่าไหร่นัก และหนึ่งในนั้นได้รับเลือกว่าเป็นที่สุดของฟาสต์ฟู้ดที่ไม่ดีต่อสุขภาพ นั่นก็คือ Hungry Jack's Ultimate Double Whopper ด้วยขนาดถึง 435 g พร้อมปริมาณพลังงานสูงถึง 5,035 kJ, ไขมัน 76.7 g, และ โซเดียม 1,863 mg ซึ่งหากวิเคราะห์เฉพาะปริมาณพลังงานแล้วถือว่าสูงถึง 60% ของค่าเฉลี่ยที่ผู้ใหญ่ต้องการในหนึ่งวัน อีกทั้งโซเดียมที่สูงถึง 1,863 mg ซึ่งเท่ากับประมาณ 80% ของปริมาณที่ร่างกายไม่ควรบริโภคเกินต่อวัน (2,300 mg) หากใครจะสั่งเมนูนี้ก็ลองทบทวนให้ดีอีกครั้ง แต่ที่มองข้ามไม่ได้นั่นคือ McDonald’s Double Quarter Pounder แม้ตัวเลขสารอาหารจะดูน้อยกว่า แต่ว่าถ้าเทียบกันในสัดส่วนที่เท่ากันแล้วถือว่าสูงกว่า โดยเป็นรองแค่ขนาดเสิร์ฟเท่านั้น

และหากวิเคราะห์ดูอีกครั้งแม้แต่เมนูที่ดีที่สุดเอง ก็ยังมีสารอาหารไม่น่าพึงพอใจเท่าไหร่นัก โดยบางเมนูก็ยังมีไขมัน หรือ โซเดียมสูงอยู่ เนื่องจากแต่ละร้านก็ยังคงเน้นรสชาติของอาหารเป็นหลัก อาจจะด้วยเหตุผลทางธุรกิจ ซึ่งหากจะเลือกเมนูที่ดีที่สุดของทั้ง 5 แบรนด์ดัง คงต้องเลือกให้ Subway Chicken Strips โดยใกล้เคียงกันกับ Hungry Jack’s TenderGrill Peri Peri แต่ว่าถ้าเทียบกันในปริมาณสัดส่วนที่เท่ากัน Chicken Strips ถือว่าดีกว่า

ผ่านไปแล้วกับหลากหลายเมนูของแต่ละร้านดังของชาวออสซี่ ทีนี้มาดูกันว่า เราควรจะเลือกทานฟาสต์ฟู้ดอย่างไรหรือมีเทคนิคอย่างไรในการทานอาหารเหล่านี้ให้ไม่ทำลายสุขภาพของเรา..

เทคนิคการเลือกทานฟาสต์ฟู้ด

  1. หลีกเลี่ยงของทอด - เนื่องจากของประเภทนี้จะมีไขมันสะสมในอาหารสูง และหากน้ำมันที่ใช้ทอดเป็นนำมันที่ใช้ซ้ำหลายครั้งก็จะเสียงเป็นมะเร็งสูงอีกด้วย
  2. ให้ขอผักหรือสลัดเพิ่ม - การทานผักหรือผลไม้เพิ่มเติมจากเมนูอาหารที่เลือก นอกจากจะได้รับวิตามินและเส้นใยเพิ่มแล้ว ยังไปทดแทนปริมาณแป้งอีกด้วย
  3. เลือกขนมปังที่มีธัญญาพืชเป็นส่วนประกอบ - เมื่อเราเลี่ยงทานขนมปังไม่ได้แล้วก็ควรเลือกชนิดที่มีประโยชน์มากที่สุด โดยขนมปังของแต่ละร้านนั้นก็จะมีให้เลือกหลากหลาย ซึ่งส่วนใหญ่แล้วทุกร้านจะมีขนมปังแบบธัญพืชให้เลือกเปลี่ยนได้ เช่น Multigrain bread หรือ Wholegrain bread เป็นต้น
  4. ทานในปริมาณที่พอเหมาะ หรือแชร์กับเพื่อน - อาหารของชาวออสซี่จะมีไซส์ที่ใหญ่ต่อหนึ่งหน่วยการบริโภค เนื่องจากโดยมาตรฐานแล้วฝรั่งมีขนาดตัวที่ใหญ่กว่าคนเอเชีย ดังนั้นหากทานหมดในครั้งเดียวก็จะได้รับพลังงานที่สูงจนเกินไป ลองคิดดูง่ายๆว่าฝรั่งตัวใหญ่กว่าเราทานของพวกนี้แล้วยังมีพลังงานส่วนเกินสะสมเป็นไขมันตามร่างกายหากทานเป็นประจำ แล้วถ้าเราทานในปริมาณที่เท่ากันกับชาวออสซี่จะเป็นอย่างไร
  5. จำกัดปริมาณซอสหรือท็อปปิ้ง - เนื่องจากในพวกซอสจะมีโซเดียมสูง และท็อปปิ้งส่วนใหญ่ก็จะมีไขมันสูงด้วยเช่นกัน เช่น ชีส เป็นต้น
  6. ดื่มน้ำแทนน้ำอัดลม - ในน้ำอัดลมมีปริมาณน้ำตาลที่สูงมาก อีกทั้งยังมีกรดคาร์บอนิก กรดฟอสฟอริก คาเฟอีน ซึ่งส่วนประกอบเหล่านี้ล้วนไม่มีประโยชน์ต่อร่างกาย

เป็นยังไงกันบ้างครับกับสกู๊ปพิเศษนี้ หวังว่าจะพอมีประโยชน์บ้างสำหรับคนที่ต้องจากบ้านมาอาศัยอยู่ต่างแดนโดยเฉพาะน้องๆนักเรียน ถึงแม้การทานอาหารนอกบ้านบางครั้งเราจะควบคุมไม่ได้ว่าจะเจอกับอะไรบ้าง แต่อย่างน้อยการเลี่ยงทานอาหารที่ไม่ค่อยดีต่อร่างกายเรา เลือกทานในปริมาณที่พอเหมาะ หรือพยายามทานสิ่งที่มีประโยชน์ต่อร่างกายเพิ่มเติมอย่างเช่นผักหรือผลไม้ ก็พอจะช่วยให้เราห่างไกลจากปัญหาเรื่องสุขภาพไปได้บ้าง

 

อ้างอิง:
[1] http://en.wikipedia.org/wiki/Calorie
[2] http://www.roymorgan.com/findings/subway-satisfies-most-201308120519
[3] http://healthier.qld.gov.au/nutrition/tips-for-eating-healthier-when-you-are-out/
[4] http://www.hungryjacks.com.au
[5] http://www.subway.com.au
[6] http://www.kfc.com.au
[7] http://www.redrooster.com.au
[8] https://mcdonalds.com.au

ปรับปรุงล่าสุดเมื่อ 28 พ.ย. 2016
MaBrisbane

Welcome to The Sunshine State