สั่งพิมพ์หน้านี้

ความจงรักภักดีของประชาชนชาวไทย ตอนที่ 2/2

เผยแพร่เมื่อ 09 ธ.ค. 2016 ผู้เขียน

ต่อจากตอนที่แล้ว.. (อ่านตอนที่ 1 ได้ ที่นี่)

 

20161202-05-king-chulalongkorn

รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระปิยมหาราช

รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระปิยมหาราช (รัชกาลที่ 5) เป็นช่วงที่ประเทศชาติเจริญสูงสุด พระองค์ทรงปฏิรูปการปกครอง พัฒนาประเทศ และรับเอาความเจริญจากต่างประเทศมาปรับใช้กับประเทศไทย แก้ไขวิกฤตมหาอำนาจด้วยการเสียส่วนน้อยเพื่อรักษาส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นสิ่งที่ประชาชนชาวไทยประจักษ์อยู่แล้ว จนถึงทุกวันนี้ จนพระองค์ได้รับสมัญญานามว่า “ปิยมหาราช” แปลว่า มหาราชผู้ทรงเป็นที่รัก

 

20161202-06-king-vajiravudh

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า (รัชกาลที่ 6) นอกจากที่ประชาชนชาวไทยจะทราบถึงพระปรีชาสามารถด้านการศึกษา การต่างประเทศ ศิลปวัฒนธรรม กิจการเสือป่า ลูกเสือ วรรณกรรม และหนังสือพิมพ์ อันเป็นความเข้มแข็งพื้นฐานรากเหง้าของความเป็นไทยแล้ว พระกรณียกิจที่สำคัญมากเหตุการณ์หนึ่งคือ การส่งทหารไปร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตร ในสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งในตอนแรกประเทศไทยเลือกที่จะรักษาความเป็นกลางไว้ แต่พระองค์ทรงติดตามข่าวการสงครามอย่างใกล้ชิด พระองค์ทรงเล็งเห็นการณ์ไกล และประกาศให้ประเทศไทยเข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตร ประกาศสงครามกับเยอรมนีและออสเตรีย-ฮังการี ในวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2460 เพราะถ้าฝ่ายสัมพันธมิตรได้รับชัยชนะจะมีผลดีในการที่ประเทศไทยจะเรียกร้องสิทธิต่างๆ คืนกลับมา เช่น ขอแก้ไขสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรม  ผลจากเหตุการณ์นี้ ประเทศไทยจึงเป็นที่ยอมรับจากนานาอารยประเทศ ได้รับสิทธิต่างๆ กลับคืนมา ส่วนทหารที่ไปร่วมรบได้นำความรู้และเทคโนโลยีกลับมาสู่การพัฒนาก่อตั้งกองทัพอากาศไทยในอนาคต (พ.ศ.2461 ยุติสงครามโลก 1 ต่อมา พ.ศ.2464 เปลี่ยนชื่อกรมอากาศยานทหารบก เป็นกรมอากาศยาน ขึ้นตรงต่อกระทรวงกลาโหม, พ.ศ.2478 ยกฐานะเป็นกรมทหารอากาศ และ 9 เมษายน พ.ศ.2480 ได้ยกฐานะเป็นกองทัพอากาศ ในที่สุด)

 

20161202-07-king-prajadhipok

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) พระองค์ทรงครองราชย์ท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกตกต่ำ จึงต้องมีการยุบหน่วยราชการ และปลดข้าราชการออกเป็นจำนวนมากเพื่อลดรายจ่ายของประเทศ ทำให้เกิดความไม่พอใจอันเป็นสาเหตุหนึ่ง ที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของสยามในเวลาต่อมา  พระองค์ทรงมีพระราชปรารภจะพระราชทานรัฐธรรมนูญการปกครองให้แก่ชาวสยาม แต่ถูกทักท้วงจึงได้ระงับไปก่อนในช่วงแรก ต่อมาคณะราษฎรได้ทำการปฏิวัติยึดอำนาจการปกครองในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475  ช่วงนั้นมีความเห็นออกเป็นสองฝ่ายทั้งสนับสนุนให้ต่อสู้กับคณะราษฎร และเห็นว่าไม่ควรสู้ หลังจากนั้นพระองค์ตรัสว่า “เมื่อได้ฟังความเห็นของเจ้านายและเสนาบดีทั้งสองฝ่ายแล้ว ทรงเห็นว่าถ้าจะสู้ก็คงสู้ได้ แต่จะเสียเลือดเนื้อข้าแผ่นดินซึ่งเป็นคนไทยด้วยกัน” วิกฤตสงครามกลางเมืองที่กำลังจะเกิดขึ้นก็ได้ผ่านพ้นด้วยพระมหากรุณาธิคุณ และพระเมตตาธรรมของพระองค์

 

20161202-08-king-ananda

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล (รัชกาลที่ 8) ครองราชย์เมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ.2477 (วันที่รัชกาลที่ 7 สวรรคต) เฉลิมพระนามสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ในวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ.2477 ครองสิริราชสมบัติ 12 ปี พระองค์ครองราชย์ขณะที่มีพระชนมายุเพียง 8 พรรษา หลังจากนั้นพระองค์ทรงเสด็จไปศึกษาต่อยังต่างประเทศ รัฐบาลได้กราบบังคมทูลอัญเชิญเสด็จนิวัติพระนครหลายครั้ง แต่มีเหตุต้องเลื่อนไปจนกระทั่ง เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ.2481 เสด็จมาประเทศไทยประมาณ 2 เดือน แล้วจึงได้เสด็จพระราชดำเนินกลับไปศึกษาต่อที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ระหว่างนั้นเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 (2482-2488) เมื่อสงครามสงบลง พระองค์เสด็จนิวัติพระนครอีกครั้ง พร้อมด้วยสมเด็จพระบรมราชชนนี และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2488 เมื่อปี พ.ศ.2489 พระองค์พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอฯ เสด็จเยี่ยมชาวไทยเชื้อสายจีน ณ สำเพ็ง พระนคร พระองค์ทรงเป็นขวัญและกำลังใจของปวงชนชาวไทยตลอดรัชกาล

 

20161202-09-king-bhumibol

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ 9) ตลอดรัชสมัยของพระองค์ 70 ปี ประชาชนคนไทยส่วนใหญ่ในปัจจุบันจะรู้จักพระองค์ท่านตั้งแต่พวกเราเกิด พวกเราจะเรียนรู้การเรียกพระองค์ท่านว่า “ในหลวง” พวกเราได้รับการสั่งสอนจากพ่อแม่ของพวกเราให้รู้จักกราบไหว้พระองค์ เคารพรักพระองค์ เมื่อพวกเราเติบโตขึ้น ทุกวันพวกเราจะเห็นพระราชกรณียกิจของพระองค์ท่าน พวกเราจะเห็นพระองค์ทรงทำงานหนักเพื่อพวกเรา การเสด็จพระราชดำเนินในที่ต่างๆ พระองค์ทรงเลือกที่จะเสด็จพระราชดำเนินไปต่างประเทศเพียงช่วงเวลาสั้นๆ ไม่กี่ปี ที่เหลือตลอดรัชสมัยพระองค์ทรงเลือกที่จะเสด็จพระราชดำเนินไปยังถิ่นทุรกันดารเพื่อเยี่ยมเยียนประชาชนของพระองค์ พวกเราเห็นโครงการพระราชดำริเพื่อการพัฒนามากมาย นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างล้นหลาม ทรงอุทิศพระราชทรัพย์ในโครงการพัฒนาประเทศไทยหลายโครงการ โดยเฉพาะในทางเกษตรกรรม สิ่งแวดล้อม สาธารณสุข การส่งเสริมอาชีพ ทรัพยากรน้ำ สวัสดิการทางคมนาคม และสวัสดิการสาธารณะ

นอกจากนี้ พระองค์ทรงมีพระปรีชาสามารถหลายด้าน  พระองค์ยังทรงเป็นเจ้าของสิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์ งานพระราชนิพนธ์ งานดนตรี และการกีฬา  ในรัชสมัยของพระองค์ ประเทศไทยผ่านวิกฤตหลายเหตุการณ์ ทั้งสงครามภายนอก และสงครามภายใน ปัญหาทางการเมืองที่ทำให้ประชาชนขัดแย้งกันจนใกล้จะเกิดสงครามกลางเมือง ด้วยพระบารมีของพระองค์ทำให้เหตุการณ์นั้นยุติลงด้วยความรวดเร็ว ท่ามกลางความประหลาดใจจากประเทศต่างๆ  สิ่งที่พวกเราถูกพ่อแม่สั่งสอนให้เคารพรักพระองค์ ได้เพิ่มพูนทวีขึ้นจนกลายเป็นความรัก ความศรัทธา ความจงรักภักดี และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ พวกเราพร้อมจะทำสิ่งใดๆ ก็ตามเพื่อพระองค์ ทั้งหมดเกิดจากใจมิได้มีใครบังคับ และพวกเราได้อบรมและสั่งสอนลูกหลานให้เรียนรู้ความรักความเคารพพระองค์ท่านเหมือนดังที่พ่อแม่สั่งสอนเรามา เป็นความจริงที่ความจงรักภักดีจะยิ่งทวีมากขึ้น เมื่อความเคารพรักต่อพระเจ้าแผ่นดิน ได้รับการตอบสนองจากพระองค์ท่านที่ทรงรัก ดูแล ช่วยเหลือ เสียสละให้แก่พสกนิกรของพระองค์ และความรู้สึกที่ยิ่งใหญ่เช่นนี้ของคนไทยทุกคน ได้รวมตัวเป็นความยิ่งใหญ่ของคนไทยทั้งประเทศ จนเป็นที่ประจักษ์ต่อชาวโลก ทำให้ชาวต่างชาติได้หันกลับมาดูความยิ่งใหญ่เช่นนี้ และเมื่อชาวต่างชาติผู้นั้นได้ประจักษ์ในพระราชกรณียกิจ คุณงามความดี พระปรีชาสามารถ พระมหากรุณาธิคุณของพระองค์แล้ว ทั่วทั้งโลกจึงให้ความเคารพรักพระองค์ท่านดุจดังบุคคลสำคัญของโลกคนหนึ่ง นับว่าพระองค์ทรงเป็นพระราชาเหนือพระราชาทั้งปวง

 

จะเห็นได้ว่า คนไทยมีความผูกพันต่อสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นเวลาช้านาน พวกเราสะสมความรู้สึกจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ยิ่งทวีมากขึ้นในช่วงราชวงศ์จักรี ความจงรักภักดีของพวกเราได้รับการตอบสนองจากพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ ที่ทรงช่วยดูแล ช่วยเหลือประชาอาณาราษฎร์ของพระองค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช  และเมื่อถึงวันที่พวกเราสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่  ทั่วโลกและคนไทยทุกคนได้หลั่งน้ำตา และร่วมกันถวายความอาลัยด้วยความเสียใจอย่างที่สุด แม้ทุกคำพูดจะไม่สามารถสื่อถึงความรู้สึกจงรักภักดีต่อพระองค์ท่านเท่าที่พวกเรารู้สึกจริง แต่ก็กลั่นออกเป็นคำพูดที่มีความหมายลึกซึ้งกินใจ พวกเราชาวไทยภูมิใจมากที่ได้มาอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรไทยและได้เป็นประชาชนของพระมหากษัตริย์ที่ทรงเป็นแบบอย่างอันดีงามให้แก่พวกเรา พระองค์จะทรงอยู่ในหัวใจของเราตลอดไป แม้เรามิได้อยู่ในประเทศที่ถูกมองว่ายิ่งใหญ่ แต่พวกเราชาวไทยภูมิใจที่มีพระมหากษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ พวกเราจะขอเป็นข้ารองพระบาทของพระองค์ทุกชาติไป  ธ สถิตในดวงใจตราบนิจนิรันดร์  ปวงข้าพระพุทธเจ้า ขอน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้


นาวาอากาศเอก อดิศร อุณหเลขกะ

ปรับปรุงล่าสุดเมื่อ 09 ธ.ค. 2016

ล่าสุดจาก น.อ.อดิศร อุณหเลขกะ