สั่งพิมพ์หน้านี้

จากแดนจิงโจ้.. สู่ดินแดนแห่งเจดีย์ "เมียนมาร์" ตอนที่ 1

เผยแพร่เมื่อ 27 พ.ค. 2016 ผู้เขียน

เปลือยเท้าเข้าวัด.......  ปฐมบท

มิงกะลาบา สวัสดีครับทุกท่าน คำว่า มิงกะลาบา นี้ในภาษาพม่าแปลว่า สวัสดีใช้ได้ทุกเวลา ไม่ว่าเช้าสายบ่ายเย็น คำนี้จะเป็นคำแรกที่คุณจะจำได้แม่นเมื่อได้เหยียบย่างเข้าแผ่นดินพม่า พม่าเป็นประเทศเพื่อนบ้านคู่รักคู่แค้นของไทยมาแต่ไหนแต่ไร คนไทยที่ไม่อยากไปเที่ยวพม่าอาจเป็นเพราะอิงกับประวัติศาสตร์มากเกินไป ให้อภัยไม่ได้เลย เป็นขั้นรุนแรง ประเภทไม่ยอมไปเห็นหน้ากันเลย ส่วนคนไทยที่ไปเที่ยวพม่า ถึงแม้จะเขม่นเล็กน้อยแต่ถือธรรมะด้วยว่าเวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร ฉันจะไปกราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ซะอย่าง

ผู้เขียนก็เป็นประเภทที่สอง แต่ตอนเด็ก ๆ เรียนชั้นประถมก็เอาเรื่องเหมือนกัน ครูเล่าเรื่องเสียกรุงครั้งแรกในวิชาประวัติศาสตร์ไทย ก็แค้นแล้ว ครั้งที่สองนี่แค้นหนักมีการเผากรุงกันเลย ก็ถึงกับลุกยืนบนเก้าอี้ด่าพี่หม่องกลางชั้น กาลเวลาผ่านไปโลกเปลี่ยน วิถีชีวิตเปลี่ยน จึงรู้ว่าประวัติศาสตร์ขึ้นอยู่กับผู้บันทึก ใครเป็นคนเขียน ถ้าจะเอาประวัติศาสตร์มาผูกติดกับปัจจุบันก็ไม่ต้องก้าวหน้า ไม่ไปไหนมาไหนกันเข้ากับยุค AEC เขาไม่ได้

ในแต่ละปีจะมีชาวไทยเดินทางเข้าพม่าไปไหว้พระตามสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก อีกทั้งชนชาติพม่าได้ชื่อว่าเป็นชนชาติที่ยังดื่มด่ำและยึดมั่นคำสอนในพระพุทธศาสนาอย่างเหนียวแน่นที่สุดชาติหนึ่งในโลก  พม่าบัญญัติให้ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติใน พ.ศ 2517 เพราะมีผู้นับถือศาสนาพุทธสูงถึง 92.3%

 

ผู้เขียนได้ใช้บริการทัวร์ซึ่งขอแนะนำเลยว่า ดีมากจะสามารถเก็บรายละเอียดได้ดีและคุ้มค่ากว่า จะเหมือนกับการบังคับตัวเองให้ต้องไปตามสถานที่ต่าง ๆ ตามเวลาที่หัวหน้าไกด์กำหนด ห้ามขี้เกียจ นอนคลุมโปงในโรงแรมเหมือนเดินทางไปด้วยตนเอง อีกอย่างเนื่องจากอยู่ประเทศออสเตรเลีย ไม่ได้อยู่ประเทศไทย นึกอยากไปเมื่อไหร่ จับเครื่องไปได้ทันที จึงต้องวางแผนอย่างรัดกุม เลือกทัวร์ชนิดแกรนด์ทัวร์ ประเภทล้างบางกันไปเลย ม้วนเดียวจบ ไม่ต้องไปกันหลายรอบ 

ยอมรับว่าวิธีนี้เหนื่อย แต่สุขใจเพราะได้ไปนมัสการ 5 มหาบูชาสถาน สิ่งศักดิ์สิทธิ์สูงสุดของประเทศพม่าครบในทริปเดียว และที่อยากไปมากที่สุดเห็นจะเป็น พระมหาเจดีย์ชเวดากองเพราะเสียงร่ำลือตั้งแต่เป็นเด็กว่าพระมหาเจดีย์องค์นี้สวยมาก ยิ่งไปกว่านั้นหลายตำรายังบอกด้วยว่าเจดีย์ชเวดากองเป็นพระธาตุประจำผู้เกิดปีมะเมีย (ปีเกิดของผู้เขียน) บทความนี้เขียนแบบง่าย ๆ สบายๆ เป็นการแนะนำกันคร่าว ๆ เผื่อใครอยากจะเดินทางไปสักการะบูชาเพื่อเป็นสิริมงคลในชีวิตบ้าง

ก่อนจะพาเที่ยว ก็เอาเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยมาฝากกันก่อน ประชากรพม่ามีประมาณ 61ล้าน คนเศษ (จากคำบอกเล่าจากไกด์ท้องถิ่น ซึ่งเป็นคนพม่า เขาบอกว่าตัวเองก็ยังงง ๆ อยู่เพราะคิดว่าน่าจะมากกว่านั้นเยอะ คงจะตกสำรวจเพราะเป็นรัฐบาลทหาร ตัวเลขไม่น่าเชื่อถือ เป็นซะงั้น) ประชากรส่วนใหญ่อยู่ในชนบท 80% ในเมือง 20% อายุเฉลี่ยผู้ชายประมาณ 57 ปี ผู้หญิง 61 ปี เมืองที่มีประชากรมากที่สุดคือ กรุงย่างกุ้ง เมืองหลวงเก่า 4.7 ล้านคน เมืองหลวงปัจจุบันชื่อว่า เนปิดอว์ หรือเนปยีดอ Naypyidaw แปลว่าราชธานีแห่งใหม่หรือรัตนปุระแห่งใหม่ ประกาศย้ายอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2548

พม่ามีกลุ่มเชื้อชาติต่าง ๆ ที่แยกกันอยู่ไม่น้อยกว่า 135 เชื้อชาติ  ยังมีภาษาท้องถิ่นแตกต่างกันอยู่ถึง 242 ภาษา มีเชื้อชาติใหญ่ ๆ อยู่ 8 เชื้อชาติ คือ พม่า ฉาน มอญ ยะไข่ กะฉิน ชิน กะยิน และกะยา ชาวพม่าเป็นกลุ่มเชื้อชาติที่ใหญ่ที่สุดประมาณ 65% และนี่ก็เป็นที่มาของการเปลี่ยนชื่อเรียกประเทศในภาษาอังกฤษจาก พม่าหรือเบอร์มา (Burma) มาเป็น 'เมียนมาร์' (Myanmar) เพราะคนส่วนใหญ่ต้องการใช้ชื่อเป็นกลาง ไม่ใช่เผ่าพันธุ์เชื้อชาติใดเชื้อชาติหนึ่ง เพราะ Burma เป็นชื่อของชนเผ่าที่ใหญ่ที่สุดในพม่านั่นเอง เกิดการขัดแย้งในระหว่างเชื้อชาติต้องเกิดการสู้รบกันตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน หลังจากได้รับอิสรภาพรัฐบาลทหารพม่าจึงได้ทำการเปลี่ยนชื่อประเทศ มาเป็น 'เมียนมาร์' (Myanmar) ตั้งแต่ปี ค.ศ 1989

อีกเหตุผลหนึ่งนั้นว่ากันว่ารัฐบาลทหารพม่าต้องการลบเลือนร่องรอยความเจ็บปวดต่าง ๆ ที่อังกฤษสร้างขึ้นกับประเทศพม่า ซึ่งพม่าตกอยู่ใต้การปกครองของอังกฤษมาเป็นเวลาช้านาน โดยในช่วงที่อังกฤษเข้ามาครอบครองพม่านั้นได้เปลี่ยนและตั้งชื่อเรียกสถานที่ต่าง ๆ ในพม่าใหม่แทบทั้งหมด รวมถึงชื่อประเทศด้วย เดี๋ยวจะค่อย ๆ เล่าให้ฟังว่าคนพม่าเกลียดชังคนอังกฤษมากมายขนาดไหน ส่วนชื่อ 'เมียนมาร์' ที่รัฐบาลทหารตั้งขึ้นมาใหม่นั้นมีความหมายตามภาษาท้องถิ่นว่า "เข้มแข็งขึ้นอย่างรวดเร็ว" โดยคำว่า 'เมียน' (Myan) มีความหมายว่า "รวดเร็ว" ส่วน 'มา' (mar) แปลว่า "เข้มแข็ง" แต่ก็ยังไม่เป็นที่ยอมรับของประเทศเสรีนิยมต่าง ๆทั่วโลก โดยเฉพาะคนไทยแล้วจะเรียกกันจนติดปากแล้วว่า “พม่า” รวมทั้งผู้เขียนเองก็เช่นกัน

 

ติดตาม part II เร็ว ๆ นี้ครับ

ปรับปรุงล่าสุดเมื่อ 28 พ.ค. 2016
ไตรภพ ซิดนีย์

ข่าวคนไทยในออสเตรเลีย
เดลินิวส์: อีเมลจากออสเตรเลีย
facebook: ข่าวคนไทยในออสเตรเลีย

Thai Esan Radio
website: www.thaiesanradio.net
facebook: Thai Esan Radio Australia