สั่งพิมพ์หน้านี้

การทำงานในออสเตรเลีย ตอนที่ 1 "ภาพรวมการทำงานและประเภทของงาน"

เผยแพร่เมื่อ 06 พ.ค. 2015 ผู้เขียน

ในตอนแรกนี้ เราจะมาคุยกันที่ภาพรวมของการทำงานในออสเตรเลียกันก่อน ว่ามีระบบในการทำงานกันอย่างไรบ้าง โดยจะมีการแสดงมุมมองความคิดเห็นและประสบการณ์ของทั้งตัวผู้เขียนเองและคนรู้จักบ้าง เพื่อเป็นแนวทาง ผู้อ่านควรใช้วิจารณญาณ

 

การทำงานในออสเตรเลีย ไม่ว่าจะทำงานประเภทไหนค่าจ้างก็ไม่ต่างกันมาก อันเนื่องมาจากระบบในการกระจายรายได้ของประเทศ บางทีคนทำงานใช้แรงงานกลับได้เงินเดือนมากกว่าพวกทำงานออฟฟิศเสียอีก เช่น ทำงานในเหมือง หรือก่อสร้าง ภาษีที่นี่ก็เลยมีระบบแบบใครหาได้เยอะก็ต้องจ่ายเยอะ จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่คนออสเตรเลียส่วนใหญ่เลือกที่จะเปลี่ยนงานบ่อย ๆ เนื่องจากไม่อยากเลื่อนตำแหน่ง เพราะ..

1. เมื่อรายได้เพิ่มขึ้นก็ต้องจ่ายภาษีเพิ่มขึ้น
2. ตำแหน่งที่สูงขึ้นหมายถึงความรับผิดชอบที่มากขึ้น

ชาวออสเตรเลียจึงเลือกใช้ชีวิตอย่างสบาย ๆ เข้างาน 9 โมงเช้า ออกงาน 5 โมงเย็น ปาร์ตี้หลังเลิกงาน เสาร์อาทิตย์ใช้เวลาอยู่กับครอบครัว เพื่อนฝูง ทำกิจกรรมกลางแจ้ง รายได้ที่ได้มานอกจากค่าใช้จ่ายในบ้านแล้ว เงินเก็บที่เหลือก็ไปเที่ยวทุก ๆ ปี เพราะเขาไม่ต้องกังวลเรื่องไม่มีคนดูแลยามแก่และเกษียณ และไม่มีใครเลี้ยงดูพ่อแม่ญาติพี่น้องลูกหลาน เนื่องจากสวัสดิการของที่ออสเตรเลียดีมาก คนไม่มีงานทำรัฐบาลก็ดูแล ไม่สบายรัฐก็ช่วย ระบบการจ่ายเงินเดือนของออสเตรเลียยังมีการจ่าย Superannuation (หรือเรียกสั้น ๆ ว่า Super) สำหรับพนักงานที่ได้รับเงินเดือนเป็นจำนวนตั้งแต่ $450 ขึ้นไป ซึ่งเงินส่วนนี้จะคิดจากรายได้ก่อนหักภาษี 9.5% ซึ่งบริษัทจะต้องฝากให้พนักงานทุกเดือนหรือทุกสามเดือน พนักงานไม่สามารถถอนเบิกเงินก้อนนี้ได้จนกว่าจะเกษียณหรือต้องกลับประเทศบ้านเกิดถาวร

เมื่อเปรียบเทียบกับชีวิตความเป็นอยู่ของชาวเอเชียส่วนใหญ่ที่ถูกปลูกฝังให้เป็นคนขยัน จึงทำให้มีการเปรียบเทียบเกิดขึ้น นายจ้างชาวออสเตรเลียหลายคนก็มักจะเลือกชาวเอเชียเข้าทำงานด้วยข้อดีจากจุดนี้เอง จึงไม่เป็นที่แปลกใจเลยว่าทำไมชาวออสเตรเลียบางกลุ่มถึงไม่ชอบชาวเอเชีย เพราะคนเอเชียขยันและสู้งาน บางกลุ่มมีการต่อต้านอย่างตรงไปตรงมา ถ้าเห็นร้านไหนมีพนักงานเอเชียหรือบริษัทไหนเจ้าของเป็นคนเอเชียก็จะไม่เข้าไปใช้บริการเลย ในการสมัครงานและการทำงาน ทางออสเตรเลียมีกฎหมายห้าม Discrimination ทั้งเรื่องเพศ ความชอบส่วนตัวทางเพศ เชื้อชาติ สีผิว อายุ ความผิดปกติทางร่างกายหรืออารมณ์ สถานภาพการสมรส ความรับผิดชอบต่อครอบครัว การตั้งครรภ์ ศาสนา ความคิดเห็นทางการเมือง ถิ่นกำเนิดหรือสังคม ความหมายคือ ทางบริษัทไม่สามารถปฏิเสธที่จะไม่รับเราเข้าทำงานด้วยสาเหตุดังที่กล่าวมานี้ ทั้งนี้ทั้งนั้นปัญหานี้ก็เป็นเพียงส่วนน้อยเท่านั้น คนออสเตรเลียโดยส่วนมากจะอัธยาศัยดี ยิ้มแย้มและทักทายคนแปลกหน้าอยู่ตลอด

 

ประเภทของงาน (แบ่งตามเวลา)

ความแตกต่างระหว่าง งานประจำ(Full-time), งานนอกเวลา(Part-time) และ งานชั่วคราว(Casual)

Full-time ทำงาน 38 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ รายได้คิดเป็นสัปดาห์ ได้รับผลประโยชน์ เช่น Paid annual leave (บริษัทจ่ายเงินแม้ว่าเราจะไม่ไปทำงาน) และ Sick leave (บริษัทจ่ายเงินแม้เราไม่สามารถไปทำงานได้เพราะไม่สบาย) บริษัทจะต้องแจ้งพนักงาน Full-time ล่วงหน้าหรือจ่ายเงินเมื่อบริษัทต้องการจะปลดพนักงาน

Part-time มีตารางงานประจำ ทำงานน้อยกว่า 38 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ พนักงานได้รับผลประโยชน์ส่วนใหญ่เช่นเดียวกับ Full-time แต่รายได้จะคิดจากชั่วโมงทำงานแทน

Casual ไม่มีตารางเวลาที่แน่นอน บางวันมีงาน บางวันไม่มีงาน บางวันได้ชั่วโมงเยอะ บางวันได้ชั่วโมงน้อย แม้ Casual จะไม่ได้ Paid sick leave หรือ Annual leave แต่รายได้ต่อชั่วโมงได้เยอะกว่า Full-time และ Part-time เมื่อเทียบกับงานชนิดเดียวกัน บริษัทสามารถจะหยุดจ้าง Casual เมื่อไรก็ได้โดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า และด้วยเหตุนี้เองคนที่ทำงาน Casual จึงเลือกที่จะกระจายความเสี่ยงโดยการรับงานหลายที่ เมื่องานที่หนึ่งขาดไป ก็ยังมีงานอีกที่รองรับ

150506-working-au-1-part-time

ร้านอาหารและงานทำความสะอาดส่วนใหญ่ในออสเตรเลียจะนิยมจ้างพนักงานแบบ Casual เนื่องจากไม่มีข้อผูกมัด ทำน้อยจ่ายน้อย ทำมากจ่ายมาก สำหรับลูกจ้างโดยเฉพาะผู้ที่ถือวีซ่านักเรียนที่มีข้อจำกัดเรื่องเวลาทำงาน ทำให้ต้องตกอยู่ในสถานะ Casual กันหลายราย และเป็นปัญหาที่พบเจอกันได้บ่อยเรื่องของตารางเวลาการทำงาน เช่น เราคำนวณว่าอาทิตย์นึงเราต้องทำงานสองวัน วันละ 5 ชั่วโมง ชั่วโมงละ $15 ก็เป็น $150 เพื่อจ่ายค่าเช่าต่อสัปดาห์ บังเอิญบริษัทรับพนักงานใหม่เข้ามาทำชั่วคราว ทำให้ต้องลดชั่วโมงการทำงานของเราลง เราก็ขาดรายได้ไป หรือ บริษัทวางตารางงานให้เราสำหรับอาทิตย์หน้าว่าลงวันจันทร์กับพุธ แต่พอวันอังคารบอกยกเลิกวันพุธแล้วให้เราเข้ามาทำวันศุกร์แทน เป็นต้น

เคยมีรุ่นน้องคนนึงต้องออกจากบ้านเดินทางไปที่ทำงานใช้เวลากว่า 20 นาทีในการขับรถ พอไปถึงพบว่าบริษัทปิดทำการวันนี้โดยไม่ได้แจ้งให้ทราบล่วงหน้า ได้ขับรถกลับโดยไม่ได้รับค่าน้ำมันหรือค่าเสียเวลาใด ๆ หรือในบางกรณีที่เป็น Casual แต่ทำงานยิ่งกว่า Full-time ก็มีให้พบเห็นไม่น้อยเหมือนกัน หากคิดที่จะทำงานแบบ Casual แนะนำให้ในช่วงแรกมีเงินสำรองสำหรับค่าใช้จ่ายประจำไว้ก่อน อาจปรึกษาเพื่อนหรือผู้รู้ก่อนจะไปสมัครงานว่าบริษัทนั้น ๆ มีเสียงตอบรับอย่างไรบ้าง ใช้เวลาในการปรับตัวและดูว่าเราสามารถรับได้กับการทำงานของบริษัทนั้น ๆ ไหม

 

ตอนนี้เราก็พอจะรู้คร่าว ๆ แล้วว่าระบบการทำงานในออสเตรเลียเป็นยังไง ในตอนต่อไปนั้นเราจะพูดในเรื่องที่สำคัญที่สุดเรื่องหนึ่ง ซึ่งก็คือ.. "การสมัครงาน" แล้วพบกันใหม่ในตอนหน้านะคะ, ขอบคุณคะ

ปรับปรุงล่าสุดเมื่อ 07 พ.ค. 2015