ความเป็นมาของวันเด็กแห่งชาติและวันเด็กสากล

เผยแพร่เมื่อ 10 ม.ค. 2014 ผู้เขียน
วันเด็กแห่งชาติ วันเด็กแห่งชาติ photo credit: kapook.com

เมื่อเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ผ่านพ้นไปเป็นที่เรียบร้อย หลายๆท่านก็คงรู้สึกว่าแก่ตัวขึ้นอีกปี บางครั้งอาจนึกถึงวันวานในสมัยเด็กว่าหลังจากปีใหม่แล้ว สำหรับเมืองไทยยังมีอีกหนึ่งวันสำคัญที่เราๆท่านๆในวัยเด็กรอคอย คือ "วันเด็กแห่งชาติ" ซึ่งจะมีการจัดกิจกรรมมากมายสำหรับเอาใจเด็กๆ เพื่อทุกคนจะได้คำนึงถึงสิทธิของเด็กและให้ความสำคัญแก่อนาคตของชาติตัวน้อยๆเหล่านี้

หากย้อนไปในอดีตแต่เดิมนั้น เมืองไทยไม่ได้ให้ความสำคัญกับสิทธิเด็กมากนัก จนเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2498 จึงได้มีการจัดงานวันเด็กขึ้นครั้งแรกตามมติคณะรัฐมนตรีในขณะนั้น ให้จัดงานวันเด็กแห่งชาติขึ้นในวันจันทร์แรกของเดือนตุลาคม โดยคำเสนอของผู้แทนองค์กรสมาพันธ์เพื่อสวัสดิภาพเด็กระหว่างประเทศในฐานะที่ประเทศไทยเป็นรัฐสมาชิกสหประชาชาติ เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนในประเทศเห็นถึงความสำคัญของเด็กเฉกเช่นนานาอารยประเทศ แต่ภายหลังคณะกรรมการจัดงานวันเด็กแห่งชาติได้มีมติเปลี่ยนการวันเวลาที่ใช้จัดงานวันเด็ก เนื่องด้วยเดือนตุลาคมประเทศไทยยังอยู่ในฤดูฝนทำให้เด็กไม่สามารถมาร่วมงานได้อย่างสะดวก อีกทั้งวันจันทร์เป็นวันทำงานปกติจึงก่อให้เกิดการจราจรติดขัด งานวันเด็กแห่งชาติได้เริ่มจัดขึ้นมาใหม่อีกครั้งในเป็นวันเสาร์ที่สองของเดือนมกราคม เมื่อปี พ.ศ. 2508 และจัดเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

"กตัญญู รู้หน้าที่ เป็นเด็กดี มีวินัย สร้างไทยให้มั่นคง"
คำขวัญวันเด็ก พ.ศ.2557

1001-children-day-koinobori
(Tango no sekku: 端午の節句)

แน่นอนว่าประเทศไทยย่อมไม่ใช่ประเทศเดียวที่มีการจัดงานวันเด็ก ยังมีอีกมากมายหลายประเทศที่มีการจัดงานวันเด็กในวันเวลาและรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป ประเทศออสเตรเลีย เองก็มีการจัดงานวันเด็กเช่นเดียวกัน โดยจัดขึ้นในวันเสาร์สุดท้ายของเดือนตุลาคมของทุกปี

หนึ่งในประเทศที่มีความน่าสนใจและมีเอกลักษณ์ของการจัดงานวันเด็ก คือ ประเทศญี่ปุ่น โดยจะจัดขึ้นทุกวันที่ 5 เดือนพฤษภาคม เรียกว่า Kodomo no hi (こどもの日) มีสัญลักษณ์ประจำวันเด็กที่เห็นกันอยู่จนถึงทุกวันนี้ คือ ธงรูปปลาคาร์ฟ มีที่มาจากเทศกาลเด็กผู้ชาย (Tango no sekku: 端午の節句) ที่ได้รับอิทธิพลมาจากประเทศจีนโบราณ โดยในวันดังกล่าวจะมีการน้ำสมุนไพรชนิดหนึ่งมาต้นแล้วนำมาอาบ เชื่อว่าจะทำให้ร่างกายแข็งแรงและขับไล่สิ่งชั่วร้ายออกไป เริ่มแรกธรรมเนียมนี้ยังไม่เป็นที่แพร่หลายมากนักมีธรรมเนียมปฏิบัติในราชพิธีหรือตระกูลขุนนางและนักรบเท่านั้น และสำหรับตระกูลนักรบแล้วหากมีเด็กชายเกิด จะมีการนำธงสัญลักษณ์ประจำตระกูลหรือสิ่งที่มีสำญลักษณ์รูปม้ามาประดับหน้าประตูทางเข้าบ้าน แต่ประชาชนทั่วไปจะไม่ได้รับอนุญาตให้ทำเช่นนั้น จึงมีการปรับเปลี่ยนให้เป็นธงรูปปลาคาร์ฟ เพราะสำหรับชาวญี่ปุ่นแล้วปลาคาร์ฟเป็นสัญลักษณ์ของความแข็งแรง มานะพยายามที่จะมีชีวิตอยู่ วายทวนกระแสน้ำอย่างไม่ย่อท้อ และอายุยืน ดังนั้นจึงใช้ธงรูปปลาคราฟของความเป็นสิริมงคลและความเจริญก้าวหน้า

นอกจากงานวันเด็กในแต่ละประเทศแล้ว ยังมี "วันเด็กสากล" (Universal children’s day) จัดขึ้นในวันที่ 20 พฤษจิกายนของทุกปี ถูกกำหนดขึ้นโดยสหประชาชาติซึ่งมีที่มาจากมูลนิธิเซฟเดอะชิลเดร์น (The save the children fund) ว่าด้วยอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the rights of the child) ซึ่งระบุว่าเด็กทุกคนในโลกนี้เกิดมาพร้อมสิทธิต่างๆ ตั้งแต่สิทธิที่จะมีชีวิตอยู่รอด ปลอดภัย มีสุขภาพแข็งแรง สมบูรณ์ ได้รับการศึกษาและพัฒนาตามวัย ตลอดจนได้รับการปกป้องคุ้มครองจากอันตราย การถูกละเมิดและถูกแสวงประโยชน์

วันเด็กสากล (Universal children’s day)

ดังนั้นวันเด็กจึงไม่ใช่วันเพียงหนึ่งวันที่จะให้ความสำคัญแก่เด็กเท่านั้น แต่เป็นวันที่ผู้ใหญ่ควรตระหนักถึงความสำคัญของเด็กว่า เด็กในวันนี้คือผู้ใหญ่ในวันหน้าที่จะต้องพัฒนาชาติต่อไป หากปล่อยปละละเลย ให้พบกับการละเมิดสิทธิ อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม ไม่ได้รับการพัฒนาที่ถูกต้อง ก็จะกลายเป็นรอยตำหนิเช่นนั้น ฝังรากลึกแก้ไขไม่ได้ตราบชั่วลูกชั่วหลาน

ปรับปรุงล่าสุดเมื่อ 15 ก.ย. 2014
MaBrisbane

Welcome to The Sunshine State