ประวัติความเป็นมา วันมาฆบูชา

เผยแพร่เมื่อ 13 ก.พ. 2014 ผู้เขียน
พระพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ พระพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ www.dhammajak.net

เมื่อถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 ของทุกปี ประเทศไทยจะมีวันสำคัญทางศาสนาที่พุทธศาสนิกชนให้ความสำคัญอีกวันหนึ่ง คือ วันมาฆบูชา และในปี พ.ศ.2557 นี้ จะตรงกับวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ส่วนคำว่ามาฆบูชามีที่มาจากคำว่า มาฆปูรณมี หมายถึงวันเพ็ญในมาฆะมาส (เดือนมาฆะ; माघ) ซึ่งเป็นเดือนหนึ่งในปฏิทินจันทรคติฮินดูระบบปูรณิมันตะ โดยเป็นระบบที่ถือว่าในวันเพ็ญ (ปูรณิมา) เป็นวันสิ้นเดือนทางจันทรคติ ของเดือนๆ นั้น และในวันดังกล่าวเป็นวันที่เกิดเหตุการณ์ขึ้น ณ วัดเวฬุวันมหาวิหาร หลังจากพระเจ้าพิมพิสารได้สดับพระธรรมเทศนาอนุปุพพิกถาและจตุราริยสัจจ์ ณ พระราชอุทยานลัฏฐิวัน และได้บรรลุพระโสดาบันเป็นพระอริยบุคคลในพระพุทธศาสนา จึงได้ถวายพระราชอุทยานเวฬุวันให้เป็นวัดในพระพุทธ ศาสนาแห่งแรก ด้วยทรงเห็นว่ามีความร่มรื่นเหมาะแก่การปฏิบัติธรรมของพระสงฆ์สาวก จึงได้เกิดเหตุการณ์ประจวบเหมาะ 4 อย่าง ภายหลังจากพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว 9 เดือน ได้แก่

  1. พระสงฆ์ 1,250 รูป ที่พระพุทธเจ้าได้ส่งไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาตามแว่นแคว้นต่างๆ ได้กลับมาประชุมพร้อมกันโดยมิได้นัดหมาย
  2. พระสงฆ์ทั้งหมดล้วนเป็น "เอหิภิกขุอุปสัมปทา" กล่าวคือเป็นพระภิกษุสงฆ์ที่พระพุทธเจ้าทรงบวชให้ด้วยเพราะองค์เองทั้งสิ้น
  3. พระสงฆ์ทั้งหมดล้วนเป็นพระอรหันต์ คือ "ผู้ได้อภิญญา 6 ข้อ"
  4. วันที่พระสงฆ์ทั้งหมดมาชุมนุนกันนี้ตรงกับ "วันมาฆปูรณมี" หรือวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 3

ด้วยเหตุการณ์ทั้ง 4 นี้จึงมีชื่อเรียกว่า "จาตุรงคสันนิบาต" โดยมาจากคำว่า จตุ+องฺค+สนฺนิปาต แปลว่า การประชุมอันประกอบด้วยองค์ประกอบทั้งสี่ประการ เมื่อพระพุทธเจ้าทอดพระเนตรเห็นการรวมตัวของพระสงฆ์สาวกจำนวนมาก จึงทรงเห็นว่าเป็นโอกาสอันสมควรที่จะแสดงคำสอนสำคัญที่เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนาแก่ที่ประชุมสงฆ์ เพื่อวางจุดหมาย หลักการ และวิธีการในการเข้าถึงและเผยแผ่ศาสนาแก่ พระสงฆ์สาวกและพุทธบริษัททั้งหลายพระพุทธเจ้าจึงทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์โดยมีใจความสำคัญดังนี้

  1. ทรงกล่าวถึงพระนิพพานว่า เป็นอุดมการณ์อันสูงสุด อันมีหลักการแตกต่างจากศาสนาอื่น
  2. ทรงกล่าวถึงวิธีการสำคัญเพื่อเข้าถึงจุดมุ่งหมายของพระพุทธศาสนา คือ การไม่ทำความชั่วทั้งปวง การทำแต่ความดี และการทำจิตใจให้ผ่องใสเป็นอิสระจากสิ่งยั่วยวนประสาทสัมผัสทั้งปวง
  3. ทรงกล่าวถึงหลักปฏิบัติของพระสงฆ์สาวกผู้ทำหน้าที่เผยแผ่พระพุทธศาสนา 6 ประการ คือ การไม่กล่าวร้ายใคร การไม่ทำร้ายใคร การมีความสำรวมในพระวินัยทั้งหลาย การเป็นผู้รู้จักประมาณในอาหาร และการรู้จักที่นั่งนอนอันสงัด

1402-watthaibuddharam
วัดไทยพุทธาราม นครบริสเบน

สำหรับวันมาฆบูชานั้นไม่มีบันทึกทางประวัติศาสตร์มาในประเทศที่มีศาสนาพุทธเถรวาทและศาสนาพุทธมหายาน จนกระทั้งสยามประเทศในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ได้ทรงปรารภถึงเหตุการณ์ครั้งพุทธกาลในวันเพ็ญเดือน 3 ดังกล่าว ว่าเป็นวันที่เกิดเหตุการณ์สำคัญยิ่ง ควรมีการประกอบพิธีทางพระพุทธศาสนาเพื่อเป็นที่ตั้งแห่งความศรัทธาเลื่อมใส จึงมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชกุศลมาฆบูชาขึ้น โดยการประกอบพระราชพิธีคงคล้ายกับวันวิสาขบูชา คือ มีการบำเพ็ญพระราชกุศลต่างๆ มีการพระราชทานจุดเทียนตามประทีปเป็นพุทธบูชาในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และพระอารามหลวงต่างๆ เป็นต้น โดยในช่วงแรกพิธีมาฆบูชาเป็นการพระราชพิธีภายใน ยังไม่แพร่หลาย ดังที่ปรากฎในพระราชนิพนธ์พระราชพิธีสิบสองเดือนในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชาธิบายเกี่ยวกับการพระราชพิธีในเดือนสาม คือ พระราชพิธีบำเพ็ญกุศลในวันมาฆบูชา มีใจความว่า

“เวลาเช้า พระสงฆ์วัดบวรนิเวศและวัดราชประดิษฐ ๓๐ รูป ฉันในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เวลาค่ำเสด็จออกทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการแล้ว พระสงฆ์สวดทำวัตรเย็นเหมือนอย่างที่วัด แล้วจึงได้สวดมนต์ต่อไป มีสวดคาถาโอวาทปาฏิโมกข์ด้วย สวดมนต์จบทรงจุดเทียนรายตามราวรอบพระอุโบสถ ๑,๒๕๐ เล่ม มีประโคมด้วยอีกครั้งหนึ่ง แล้วจึงมีเทศนาโอวาทปาฏิโมกข์กัณฑ์ ๑ เป็นเทศนาทั้งภาษามคธและภาษาสยาม เครื่องกัณฑ์จีวรเนื้อดีผืนหนึ่ง เงิน ๓ ตำลึงและขนมต่างๆ เทศน์จบพระสงฆ์สวดมนต์รับสัพพี ๓๐ รูป”

แต่ต่อมาประชาชนก็ได้นิยมนำพิธีนี้ไปปฏิบัติสืบต่อมาจนกลายเป็นวันประกอบพิธีสำคัญทางพระพุทธศาสนาวันหนึ่งทั่วราชอาณาจักร ดังนั้นเมื่อสยามประเทศเกิดเหตุการณ์เสียดินแดนไปในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 จึงเป็นผลให้พิธีสำคัญในวันมาฆบูชามีจัดขึ้นในบางส่วนของประเทศลาวและกัมพูชาที่มีการนับถือพระพุทธศาสนาและเคยเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของประเทศไทย

ปรับปรุงล่าสุดเมื่อ 15 ก.ย. 2014

Media

MaBrisbane

Welcome to The Sunshine State